การบัญชีสำหรับผลประโยชน์พนักงาน: กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

เขย่าวงการวิชาชีพการบัญชีของประเทศไปในปี 2554 กับมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์พนักงาน ที่กำหนดให้กิจการต้องวัดมูลค่าผลตอบแทนที่ให้พนักงานในระยะยาวตามวิธีทางคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial method) และรับรู้ภาระหนี้สินในงบแสดงฐานะการเงิน สภาวิชาชีพบัญชีผ่อนผันให้กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถใช้วิธีอื่นในการวัดมูลค่าภาระหนี้สินดังกล่าวด้วยจำนวนเงินที่สะท้อนประมาณการหนี้สินที่ดีที่สุดของรายจ่ายที่ต้องนำไปจ่ายชำระภาระผูกพันในปัจจุบัน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555 คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีจึงได้จัดทำตัวอย่างประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดมูลค่าและการรับรู้รายการดังกล่าวเพื่อให้กิจการสามารถประมาณการหนี้สินผลประโยชน์ของพนักงานหลังออกจากงานได้อย่างน่าเชื่อถือโดยไม่มีต้นทุนสูงเกินไป โดยระบุให้กิจการสามารถประมาณการหนี้สินผลประโยชน์ของพนักงานหลังออกจากงานโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงตัวแปรดังต่อไปนี้ (ดูข้อ 6 ในเอกสารตัวอย่างประกอบความเข้าใจ)

1) การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (สมมติว่าเงินเดือนปัจจุบันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกว่าพนักงานปัจจุบันจะได้รับผลประโยชน์หลังออกจากงาน)

2) การให้บริการของพนักงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (สมมติว่าการเลิกจ้างพนักงานปัจจุบันและพนักงานใหม่เกิดขึ้นในรอบบัญชีปัจจุบัน)

3) การเสียชีวิตของพนักงานปัจจุบันที่อาจเกิดขึ้นขณะให้บริการนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลารายงานจนถึงวันที่คาดว่าพนักงานจะได้รับผลประโยชน์หลังออกจากงาน (สมมติว่าพนักงานปัจจุบันทั้งหมด จะได้รับผลประโยชน์หลังออกจากงาน)

แต่ตัวอย่างที่ระบุไว้ในประกาศฉบับนั้นแสดงการวัดมูลค่าของภาระหนี้สิน ตามข้อสมมติให้พนักงานที่จะเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี โดยใช้สูตรต่อไปนี้

เงินเดือนปัจจุบัน x อัตราการหมุนเวียนของพนักงาน x (ระยะเวลาที่ทำงานในกิจการแล้ว / ระยะเวลาที่ทำงานในกิจการจนอายุครบ 60 ปี)

นักบัญชีในองค์กรขนาดเล็กคงมีคำถามต่อไปว่า “อัตราการหมุนเวียนของพนักงาน” ที่สะท้อนความน่าจะเป็นที่พนักงานจะทำงานให้แก่กิจการจนเกษียณคืออะไร ผมเห็นว่าตัวเลขนั้นเท่ากับ

1 – ความน่าจะเป็นที่พนักงานจะไม่ทำงานให้แก่กิจการอีกต่อไปโดยกิจการไม่ต้องเลิกจ้าง

หากผมเข้าใจไม่ผิดความน่าจะเป็นดังกล่าวน่าจะสะท้อนอัตราการเสียชีวิตหรืออัตราการลาออกโดยสมัครใจ (การให้บริการของพนักงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต) ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชียกเว้นให้ไม่ต้องนำมาใช้ประกอบการคำนวณ นอกจากนั้น ข้อ 7 ในเอกสารตัวอย่างดังกล่าวระบุว่า “คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ขอตัดตัวอย่างข้อ 7 เดิม ออก เนื่องจากตัวอย่างไม่สอดคล้องกับตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีประมาณการหนี้สินผลประโยชน์ของพนักงานหลังออกจากงาน” จึงมีคำถามต่อไปว่าแล้วตัวอย่างที่ให้ต่อจากย่อหน้านั้นสอดคล้องกับข้อยกเว้น 3 ข้อข้างต้นแล้วจริงหรือ ผมคาดว่าคำตอบที่จะได้รับคงจะระบุว่าตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนดให้ทำวิธีอื่นได้….

ผมจึงเข้าใจได้ไม่ยากที่กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่จำนวนนับแสนรายจะเกิดความกังวลกับเรื่องนี้ และสอบถามไปยังสภาวิชาชีพบัญชีหรือกระทรวงพัฒนาธุรกิจการค้า ยังไงก็ขอความกรุณาผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ได้ออกมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดมูลค่าผลประโยชน์พนักงานที่จะเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ โดยไม่สร้างภาระต้นทุนในการจัดทำบัญชีเกินจำเป็นตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในมาตรฐานด้วยครับ

เอกสารอ้างอิงจากเว็บไซต์สภาวิชาชีพบัญชี http://www.fap.or.th (โพสต์เมื่อ 18 มกราคม 2555) ตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีประมาณการหนี้สินผลประโยชน์ของพนักงาน

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค