หลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการบัญชีแห่งแรกในประเทศไทย

หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี เริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ของศาสตราจารย์กิตติคุณ เพ็ญแข สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการบัญชีระหว่างปี พ.ศ. 2519-2526 ที่ต้องการให้ภาควิชาการบัญชี จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาการบัญชีเต็มรูปแบบตั้งแต่ระดับปริญญาบัณฑิตจนถึงปริญญาดุษฎีบัณฑิต และผลักดันให้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีดำเนินการจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาคณาจารย์ให้มีคุณวุฒิในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ในระดับดุษฎีบัณฑิตต่อไป

ภาควิชาการบัญชีดำเนินการพัฒนาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตทางการบัญชี โดยคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรประกอบด้วย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ เพ็ญแข สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิไล วีระปรีย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประวิตร นิลสุวรรณากุล
อาจารย์อรพินธุ์ ชาติอัปสร รองศาสตราจารย์สุรีย์ วงศ์วณิช อาจารย์ ดร.พรสิริ ปุณเกษม และรองศาสตราจารย์ ดร.ดนุชา คุณพนิชกิจ โดยเริ่มจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบัญชีดุษฎีบัณฑิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 30 ปี หลักสูตรบัญชีดุษฎีบัณฑิต ได้สร้างนักวิจัยและนักวิชาการด้านการบัญชีที่มีบทบาทสำคัญด้านวิชาการและวิชาชีพ ปีการศึกษา 2554 มีการปรับปรุงหลักสูตรให้สะท้อนถึงการเน้นศาสตร์บริสุทธิ์ด้านการบัญชี จึงต้องเปลี่ยนชื่อหลักสูตรภาษาไทยเป็น หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี (โดยยังคงชื่อหลักสูตรภาษาอังกฤษคือ Doctor of Philosophy Program in Accountancy) ปีการศึกษา 2561 มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ลึกด้านทฤษฎีและหลักการทางการบัญชี และมีความสามารถในการระบุและวิเคราะห์ปัญหา รวมถึงการทำวิจัยขั้นสูงที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นผู้ผลิตผลงานทางวิชาการด้านการบัญชีที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพบัญชีและเศรษฐกิจของประเทศได้จริง และเพื่อเป็นบุคลากรที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้การทำวิจัยทางด้านการบัญชีให้แก่วงการการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างเหมาะสม

หลักสูตรใหม่นี้เริ่มจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2561 ขณะที่โลกธุรกิจมีการพัฒนาตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ ความซับซ้อนของรายการค้าการลงทุนก่อให้เกิดปัญหาในการรายงานการเงินสำหรับธุรกิจ องค์กรกำกับดูแลอุตสาหกรรม ตลาดเงิน ตลาดทุน และทุกภาคส่วน ที่ต้องได้รับการพิจารณาบนพื้นฐานของทฤษฎีเชิงบูรณาการจากหลายสาขาวิชา หลักสูตรปรับปรุงนี้จึงมุ่งเน้นความยืดหยุ่นในโครงสร้างหลักสูตรเพื่อรองรับความต้องการทำวิจัยด้วยระเบียบวิธีวิจัยและเนื้อหาที่แตกต่างกันตามความสนใจของนิสิต เพื่อให้งานวิจัยของนิสิตมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน