สภาวิชาชีพบัญชี ได้ออกข้อบังคับใหม่ในปี พ.ศ. 2557 รวม 5 ฉบับ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้สอบบัญชี และมีผู้สอบบัญชีส่วนหนึ่งเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน เรื่องแรกคือผู้สอบบัญชีไม่ต้องฝึกหัดงานอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องให้ครบ 3 ปีและ 3,000 ชั่วโมง ทั้งนี้ ต้องฝึกหัดงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 5 ปี นั่นคือผู้สอบบัญชีอาจฝึกหัดงานสอบบัญชีไม่ต้องต่อเนื่องทุกปี ฝึกหัดงานช่วงหนึ่ง พักช่วงหนึ่ง แต่ให้ครบ 3 ปี และ 3,000 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่าเพิ่มเวลาการฝึกหัดงานเป็น 5 ปี เรื่องที่สองคือวิชาที่ทดสอบการเป็นผู้สอบบัญชี จะเหลือ 6 วิชา กล่าวคือ วิชาการบัญชี 1 วิชาการบัญชี 2 วิชาการสอบบัญชี 1 การสอบบัญชี 2 วิชากฎหมายที่เกี่ยวกับการสอบบัญชี 1 และกฎหมายที่เกี่ยวกับการสอบบัญชี 2 โดยตัดวิชาการสอบบัญชีที่ประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ออกไป โดยให้เป็นหัวข้อหนึ่งในวิชาการสอบบัญชี 1 ทั้งนี้ รายวิชาที่สอบผ่านจะสามารถเก็บผลไว้ได้ไม่เกิน 4 ปี เรื่องที่สามคือผู้สอบบัญชีต้องมีชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องอย่างน้อย 18 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 12 ชั่วโมงต่อปี ผู้สอบบัญชีบางท่านอาจเห็นว่าจำนวนชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นภาระ แต่หากพิจารณาในด้านการพัฒนาตนเองของผู้สอบบัญชีในต่างประเทศแล้ว มีการกำหนดไว้ว่าการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องภายในเวลา 3 ปีต้องใช้เวลา 120 ชั่วโมง

นอกจากเรื่องสำคัญต่างๆ ที่กำหนดในข้อบังคับใหม่ของสภาวิชาชีพแล้ว สภาวิชาชีพยังได้กำหนดจำนวนรายลูกค้าที่เชื่อว่าผู้สอบบัญชีจะสามารถปฏิบัติงานสอบบัญชีได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งกำหนดไว้ที่ 200 รายต่อปี (แต่เดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 300 รายต่อปี) ซึ่งถ้าหากผู้สอบบัญชีรายใดลงลายมือชื่อเกิน 200 ราย ผู้สอบบัญชีต้องแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนได้ปฏิบัติงานสอบบัญชีได้อย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและข้อกำหนดจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง (ถึงแม้ผู้สอบบัญชีรับงานไม่ถึง 200 รายต่อปี ก็ต้องมีหลักฐานการปฏิบัติงานเช่นกัน) ในกรณีนี้ สภาวิชาชีพฯ ไม่ได้ห้ามให้รับงานสอบบัญชีเกินกว่า 200 ราย แต่หากผู้สอบบัญชีรายใดต้องการรับงานเกินกว่า 200 รายนั้น ผู้สอบบัญชีต้องเป็นผู้พิสูจน์ให้สภาฯ เห็นว่าผู้สอบบัญชีได้ปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพจริง และสอดคล้องกับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพ TSQC1 ที่บังคับใช้ในปี พ.ศ. 2557 ด้วย

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์