รายงานของผู้สอบบัญชีรูปแบบใหม่หรือที่เรียกกันว่ารายงานแบบหกวรรคนั้นได้มีการประกาศใช้แล้วโดยสภาวิชาชีพบัญชีฯ ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 21/2555 สำหรับงบการเงินที่มีรอบระยะเวลาเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 ซึ่งมีผู้สอบบัญชีหลายท่านได้เสนอรายงานรูปแบบใหม่ดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดใหม่คือการแสดงความเห็นต่องบการเงินที่ตรวจสอบนั้นเป็นการแสดงความเห็นต่องบการเงินปีปัจจุบันที่ตรวจสอบเพียงงวดเดียว ซึ่งใช้สำหรับงบการเงินที่มีรอบระยะเวลาสิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ข้อกำหนดดังกล่าวเกิดจากการนำเสนองบการเงินของกิจการที่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 (ปรับปรุง 2552) เรื่องการนำเสนองบการเงิน เกี่ยวกับข้อมูลเปรียบเทียบในย่อหน้าที่ 38 ที่กำหนดให้กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลของงวดก่อนเปรียบเทียบกับทุกรายการที่แสดงในงบการเงินงวดปัจจุบัน หากมาตรฐานการรายงานทางการเงินมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กิจการต้องรวมข้อมูลเปรียบเทียบที่เป็นข้อมูลเชิงบรรยายและพรรณนา (ซึ่งมักแสดงอยู่ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน) หากข้อมูลนั้นช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถเข้าใจงบการเงินงวดปัจจุบัน หมายความว่า งบการเงินทุกงบต้องแสดงตัวเลขเปรียบเทียบของงวดก่อน ส่วนข้อมูลเชิงบรรยายและพรรณนาของงวดก่อนในหมายเหตุฯ ควรแสดงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เข้าใจงบการเงิน ซึ่งไม่ได้กำหนดให้แสดงเปรียบเทียบในทุกๆ เรื่อง ลักษณะดังกล่าวเรียกว่าตัวเลขเปรียบเทียบ (Corresponding figures) ตามมาตรฐานการสอบบัญชีรหัส 710 เรื่องข้อมูลเปรียบเทียบ- ตัวเลขเปรียบเทียบและงบการเงินเปรียบเทียบ ดังนั้น หากกิจการนำเสนองบการเงินโดยแสดงตัวเลขเปรียบเทียบตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 เรื่องการนำเสนองบการเงิน ผู้สอบบัญชีจะเสนอรายงานของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินงวดปัจจุบันเพียงงวดเดียว ซึ่งเป็นกรณีทั่วไปของกิจการ ลักษณะดังกล่าวแตกต่างจากงบการเงินเปรียบเทียบ (Comparative financial statements) ที่กำหนดในมาตรฐานการสอบบัญชีฉบับเดียวกัน กล่าวคืองบการเงินเปรียบเทียบจะแสดงข้อมูลของงวดก่อนเปรียบเทียบกับทุกรายการที่แสดงในงบการเงินงวดปัจจุบัน และต้องแสดงข้อมูลเชิงบรรยายและพรรณนาในหมายเหตุประกอบงบการเงินของงวดก่อนเปรียบเทียบด้วยเสมอ
อย่างไรก็ตาม การแสดงความเห็นต่องบการเงินเปรียบเทียบยังคงมีอยู่แต่เป็นเฉพาะกรณีที่กิจการต้องนำเสนองบการเงินโดยแสดงงบการเงินเปรียบเทียบตามข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแล เช่น กรณีที่กิจการกำลังจะจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กิจการต้องนำเสนองบการเงินเปรียบเทียบ ซึ่งกรณีดังกล่าวผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นต่องบการเงินมากกว่าหนึ่งงวดคืองบการเงินงวดปัจจุบันและงบการเงินงวดก่อนที่นำมาเปรียบเทียบ

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์