ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปต่องบการเงินที่ตรวจสอบเนื่องจากเหตุการณ์สองเหตุการณ์คือ งบการเงินแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริง หรือการไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ ถ้าหากผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญแต่ผลกระทบไม่แผ่กระจาย ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไขต่องบการเงิน (Qualified Opinion) แต่ถ้าหากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงมีสาระสำคัญและมีผลกระทบแผ่กระจาย ผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse Opinion) และหากกรณีที่ผู้สอบบัญชีไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอนั้นมีสาระสำคัญและมีผลกระทบแผ่กระจาย ผู้สอบบัญชีจะไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินที่ตรวจสอบ (Disclaimer of Opinion)

คำถามที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือความมีสาระสำคัญ และผลกระทบแผ่กระจายนั้นหมายถึงอะไร และพิจารณาอย่างไร ความมีสาระสำคัญ (Materiality) คือการที่ข้อมูลในงบการเงินจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน หากแสดงข้อมูลนั้นผิดพลาดหรือไม่ได้แสดงข้อมูลนั้น ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้พิจารณาข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบพบและพิจารณาว่าสมควรที่จะเสนอรายการปรับปรุงให้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าหากรายการดังกล่าวมีสาระสำคัญและกิจการยอมปรับปรุงให้ถูกต้อง ผู้สอบบัญชีก็จะเสนอรายงานแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ถ้ากิจการไม่ยอมปรับปรุงรายการบัญชี ผู้สอบบัญชีก็ต้องพิจารณาต่อไปว่ามีผลกระทบแผ่กระจายหรือไม่เพื่อตัดสินใจเสนอรายงานของผู้สอบบัญชีแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคำว่าแผ่กระจาย (Pervasive) นั้นหมายถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ที่กำลังพิจารณานั้นมีผลกระทบต่องบการเงินในวงกว้างและอาจมีลักษณะดังนี้ คือผลกระทบนั้นไม่จำกัดอยู่ที่เฉพาะบัญชีหรือรายการใดรายการหนึ่งในงบการเงิน หรือหากจำกัดแค่บางองค์ประกอบของงบการเงิน องค์ประกอบนั้นต้องมีสัดส่วนที่สำคัญอย่างมากต่องบการเงิน หรือหากเป็นเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล ต้องเป็นเรื่องพื้นฐานที่มีผลต่อความเข้าใจในงบการเงินของผู้ใช้งบการเงิน ดังนั้น การใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้องเพื่อพิจารณาความมีสาระสำคัญและผลกระทบแผ่กระจาย จะช่วยทำให้ผู้สอบบัญชีสามารถเสนอรายงานของผู้สอบบัญชีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์