International Auditing and Assurance Standards Board (IAASB) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของ International Federation of Accountants (IFAC) ได้เสนอร่างรายงานของผู้สอบบัญชีรูปแบบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต่างประเทศประมาณ ปี ค.ศ.2016 ซึ่ง IAASB ได้ทำการวิจัยเป็นเวลาหลายปีในหลายประเทศ และพบว่ารายงานของผู้สอบบัญชีควรมีลักษณะการให้ข้อมูลที่มีคุณค่าในการสื่อสารกับผู้ใช้มากขึ้นกว่ารายงานของผู้สอบบัญชีในปัจจุบัน ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากรายงานของผู้สอบบัญชีในปัจจุบันหรือรายงานแบบ 6 วรรค คือ รายงานจะเริ่มต้นด้วยวรรคการแสดงความเห็น (Opinion) ของผู้สอบบัญชีก่อนเป็นอันดับแรก ทำให้ผู้ใช้รายงานเห็นเด่นชัด และตามด้วยวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี (Basis for opinion) ซึ่งมาตรฐานปัจจุบันผู้สอบบัญชีจะเสนอวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็นก็ต่อเมื่อมีการแสดงความเห็นที่ไม่ใช่แบบไม่มีเงื่อนไข เช่น ความเห็นแบบมีเงื่อนไข ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็น เป็นต้น แต่รายงานรูปแบบใหม่ กำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องแสดงวรรคนี้ทุกครั้งไม่ว่าความเห็นจะเป็นแบบใด วรรคต่อมาคือวรรคเรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี (Key Audit Matters) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ผู้สอบบัญชีสื่อสารกับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการและเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรนำเสนอในรายงาน เช่น คดีความฟ้องร้อง ความไม่แน่นอนในการวัดมูลค่าสินทรัพย์ การรับรู้รายได้ที่สำคัญ การซื้อธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งผู้สอบบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจในการเลือกว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญที่ควรนำเสนอในรายงานของผู้สอบบัญชี วรรคต่อมาคือวรรคการดำเนินงานต่อเนื่อง (Going Concern) ซึ่งกำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องประเมินว่าข้อสมมติเรื่องการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ และพิจารณาว่าผู้บริหารได้ประเมินความเหมาะสมของข้อสมมติดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งเป็นงานที่ผู้สอบบัญชีต้องทำอยู่แล้วตามมาตรฐานการสอบบัญชี เพียงแต่เป็นการเขียนให้ชัดเจนขึ้นว่าผู้สอบบัญชีได้ทำการดังกล่าวแล้ว วรรคต่อมาคือวรรคข้อมูลอื่น (Other Information) ซึ่งกำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องอ่านเอกสารต่างๆ ที่มีงบการเงินรวมอยู่ด้วย เช่น รายงานประจำปี เป็นต้น ว่าเอกสารนั้นมีข้อมูลที่ขัดแย้งกับงบการเงินหรือไม่ ตามมาตรฐานการสอบบัญชีในปัจจุบัน การอ่านข้อมูลอื่นเป็นงานหนึ่งที่ผู้สอบบัญชีต้องกระทำอยู่แล้ว เพียงแต่การนำเสนอวรรคดังกล่าวทำให้ผู้สอบบัญชีต้องตระหนักหน้าที่ดังกล่าวด้วย ส่วนวรรคความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการต่องบการเงิน และวรรคความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีต่อการตรวจสอบงบการเงินยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก เพียงแต่มีการอธิบายกระบวนการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีให้ละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้ รายงานรูปแบบใหม่ได้กำหนดให้แสดงชื่อของผู้สอบบัญชีที่รับผิดชอบงานสอบบัญชีและนำเสนอรายงานของผู้สอบบัญชีด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มความรู้สึกรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีที่มีต่อการตรวจสอบงบการเงินและผู้ใช้งบการเงิน
โดยสรุป รายงานของผู้สอบบัญชีรูปแบบใหม่นั้นไม่ได้ทำให้กระบวนการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเขียนให้ชัดเจนขึ้นว่าผู้สอบบัญชีได้ทำอะไรบ้างในกระบวนการตรวจสอบ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในรายงานดังกล่าวคือวรรคเรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี (Key Audit Matters) ซึ่งผู้สอบบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจอย่างมากในการเลือกเรื่องที่จะนำเสนอในรายงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีการสื่อสารกันระหว่างผู้สอบบัญชีกับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของลูกค้าสอบบัญชี และมีการแก้ไขปัญหาหรือมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวอย่างไรบ้าง และที่สำคัญต้องไม่ทำให้ผู้อ่านรายงานเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวกระทบกับความเห็นของผู้สอบบัญชีแต่อย่างใด

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์