การประยุกต์มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ ในสถานการณ์การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีจัดทำร่างมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ ในปี 2552 และมีมติให้ถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไปนั้น หลายบริษัทตัดสินใจเลือกนำมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าวมาถือปฏิบัติก่อนกำหนด การเลือกนำมาตรฐานการบัญชีมาใช้ก่อนกำหนดก่อให้เกิดการรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีสำหรับหลายกิจการจำนวนมาก ที่ช่วยให้ภาษีเงินได้ที่ต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในกำไรขาดทุนลดลง และสำหรับบางกิจการที่มีหนี้สินภาษีเงินได้จำนวนมากที่ต้องรับรู้จะต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้สูงขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ภายในปี 2555 และลดเหลือ 20% ในปี 2556 ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีข้างต้นจะมีผลทำให้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีที่กิจรับรู้ไว้ด้วยจำนวนเงิน 30% ของผลต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชีและฐานภาษีของรายการบัญชี จะก่อให้เกิดการประหยัดเงินสดเมื่อเกิดการกลับผลต่างได้เพียง 20% ถึง 23% เท่านั้น ส่วนกิจการที่รับรู้หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชีไว้คงตระหนักถึงข่าวดีที่กิจการจะสามารถประหยัดภาษีที่จะต้องชำระในอนาคตไปได้อีกจำนวนหนึ่ง

มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 กำหนดให้กิจการต้องวัดมูลค่าสินทรัพย์หรือหนี้สินภาษีเงินได้ของงวดปัจจุบันและงวดก่อนตามจำนวนที่คาดว่าจะได้รับคืนหรือต้องชำระแก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี โดยใช้อัตราภาษีสำหรับงวดที่กิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี หรือในงวดที่กิจการคาดว่าจะชำระหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี โดยอัตราภาษีที่อ้างอิงเป็นอัตราภาษีที่บังคับใช้อยู่หรือที่คาดได้ค่อนข้างแน่ว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นรอบระยะเวลาที่รายงาน

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติปรับลดอัตราภาษีในปี 2555 และ 2556 กิจการต้องวัดมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการปรับลดอัตราภาษี โดยรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีเท่ากับจำนวนเงินที่คาดว่าเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาใช้หักภาษีได้ และรับรู้จำนวนเงินที่เกิดจากการวัดมูลค่าของรายการใหม่ในกำไรขาดทุน (ดู TAS 12.60) โดยกิจการต้องประเมินจำนวนเงินผลต่างที่จะกลับรายการและก่อให้เกิดการประหยัดภาษี (หากเป็นสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี) หรือก่อให้เกิดการชำระภาษี (หากเป็นหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี) ในแต่ละปี ตามอัตราภาษีที่เกี่ยวข้อง (23% หรือ 20%)

ดังนั้นกิจการที่เลือกนำมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 มาใช้ก่อนกำหนด และก่อให้เกิดการรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวนมาก คงต้องตระหนักแล้วว่าสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีที่รับรู้ไว้นั้น จะไม่ก่อให้เกิดการประหยัดภาษีในอนาคต การลดลงของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้กิจการต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวนหนึ่งในกำไรขาดทุนสำหรับปีปัจจุบัน โดยปรับลดมูลค่าโดยตรงไปยังสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ให้สะท้อนจำนวนเงินของผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษีที่เป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่ากิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาใช้หักภาษีได้ ส่วนกิจการที่ได้รับรู้หนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชีไว้แล้ว กิจการจะได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ในงวดปัจจุบันลดลงจากการวัดมูลค่าของหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี

บรรณานุกรม

[1] มติชนออนไลน์ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 “ครม.ลดภาษีนิติบุคคลปี ¢55 เหลือ 23% ปี ¢56 เหลือ 20% เงินบริจาคน้ำท่วมหักค่าใช้จ่าย 1.5 เท่าไปลดภาษี” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1318334479&grpid=00&catid=&subcatid=

[2] สภาวิชาชีพบัญชี 2552 มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค