จากภาคแรก เราได้ทราบว่า การที่จะประสานอุดมคติกับชีวิตจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตหลังจากสำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย แต่เราต้องประสานอุดมคติอย่างมีสติ และอยู่ในกรอบของศีลธรรมและจริยธรรมโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ธรรมะอีก 1 ข้อ ที่ท่าน ว. วชิรเมธีได้ให้เพิ่มเติมไว้ในงานปัจฉิมนิเทศนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 69 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2555 คือ

2. การประพฤติตัวและคบหาคนประเภทรุ่งอรุณ (ที่ตรงข้ามกับคนประเภทสนธยา)

ข้อคิดดีๆ ข้อนี้เปรียบเสมือนการปฏิบัติตนเยี่ยงกัลยาณมิตรและคบหาแต่กัลยาณมิตร โดยกัลยาณมิตร หมายถึง มิตรแท้หรือเพื่อนแท้ เพื่อนที่คอยช่วยเหลือเพื่อนอย่างจริงใจโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน กัลยาณมิตรเป็นมิตรที่หวังดี มีสิ่งดี ๆ ให้กันด้วยความจริงใจ ดังนั้นบุคคลประเภทรุ่งอรุณก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่สามารถเป็นกัลยาณมิตรของเราได้คือ บุคคลคนนี้เป็นบุคคลที่พร้อมที่จะให้กำลังใจแก่เพื่อน พร้อมให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อน แนะนำแต่สิ่งที่ดีๆ ให้แก่กันและกัน ซึ่งตรงข้ามกับบุคคลประเภทสนธยา ที่พยามบั่นทอนกำลังใจคนรอบข้าง เปรียบเสมือนเป็นเผือกร้อนที่ไม่มีใครอยากได้ไว้ครอบครอง อย่างไรก็ตาม ในการให้กำลังใจ การสนับสนุนซึ่งกันและกันนั้น ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรย่อมสนับสนุนและให้กำลังใจกันในสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร มิใช่สนับสนุนให้กำลังใจกันในทางที่เสื่อมเสีย ดังนั้นการประพฤติตนเยี่ยงบุคคลรุ่งอรุณ เราจึงต้องกระทำอย่างมีสติและใช้วิจารณญาณ

การประพฤติตนเยี่ยงคนรุ่งอรุณนั้นเปรียบเสมือนการมองโลกในแง่บวก การสร้างมุมมองที่ดีกับทุกสิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราแนะนำเพื่อนนั่นเอง ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมใดหรือให้ข้อแนะนำใด หากเรามีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งนั้นแล้ว เราย่อมทำหรือแนะนำด้วยความเต็มใจและมีความสุข พร้อมที่จะแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาจากการทำกิจกรรมนั้น นอกจากนี้การประพฤติตนเช่นบุคคลรุ่งอรุณด้วยการให้กำลังใจผู้ที่อยู่ใกล้ ย่อมทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้นั้นมีความสุขไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบุคคลที่อยู่ใกล้นั้นเป็นบุคคลรุ่งอรุณด้วยกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็พร้อมที่จะให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และพร้อมที่จะก้าวข้ามอุปสรรคที่เข้ามาในชีวิตได้อย่างมีความสุข

บัณฑิตในวิชาชีพบัญชีควรเรียนรู้การเป็นบุคคลรุ่งอรุณด้วยการมองโลกในแง่บวกสำหรับสิ่งที่ตนทำ สิ่งที่ตนแนะนำรวมทั้งรู้จักที่จะสนับสนุนและให้กำลังใจเพื่อนร่วมวิชาชีพ ยินดีกับความสำเร็จของเพื่อนร่วมวิชาชีพ และที่สำคัญ การแนะนำนั้นต้องแนะนำเพื่อนในทางที่ถูก ที่ควร ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราและเพื่อนต่างก็สามารถเข้าทำงานในบริษัทสำนักงานสอบบัญชีที่มีความมั่นคง เราก็ควรแสดงความยินดีและช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งช่วยกันชี้แนะแนวทางในการทำงานให้เจริญ รุ่งเรืองไปด้วยกัน ให้กำลังใจในยามที่เกิดความท้อ ความเครียดระหว่างการทำงาน พูดจาปรับทุกข์ ช่วยเหลือกัน เมื่อเราและเพื่อนต่างก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เราก็ควรให้กำลังใจสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่ว่าผลจะเป็นเช่นไร เราต้องเรียนรู้ที่มองโลกในแง่บวกจากสิ่งนั้นเสมอ หากโชคร้ายเราไม่สามารถสอบผ่านเป็นผู้สอบบัญชีได้ครบทุกวิชา เราก็ควรที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและรวบรวมกำลังใจสู้ใหม่ และคิดว่า อุปสรรคมีไว้ท้าทายความสามารถของเรา และพร้อมที่จะสู้ต่อ

การประพฤติตนเยี่ยงบุคคลรุ่งอรุณเช่นว่า เราต้องประพฤติตนให้พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ นั่นหมายถึง การที่จะคิด จะพูด จะทำ ต้องทำอย่างมีสติ ก่อนที่จะคิด จะพูด หรือจะกระทำสิ่งใดนั้น เราควรคำนึงบุคคลรอบข้างที่จะได้รับผลของการคิด การพูด การกระทำของเรา การเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นนับได้ว่า เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่กัลยาณมิตรพึงกระทำ เมื่อเราต้องการกำลังใจในการดำเนินชีวิต เราก็ไม่ควรที่จะทำลายกำลังใจของผู้อื่น ด้วยการใช้คำพูดหรือการกระทำที่ไม่พึงประสงค์ มีคำกล่าวว่า “ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด หลังพูด คำพูดเป็นนายเรา” ดังนั้นก่อนที่เราจะพูดอะไรหรือทำอะไรลงไป ขอให้เราใช้ความคิดพิจารณาและคำนึงถึงผลของคำพูดหรือการกระทำของเราที่อาจกระทบบุคคลรอบข้าง เพราะเมื่อเราได้พูดออกไป คำพูดจะเป็นนายเรา และยากที่จะเยียวยาผู้ที่รับคำพูดของเราหากคำพูดเราไปทำร้ายจิตใจของผู้นั้น การพูดหรือการกระทำในเชิงบวก ก็ถือเป็นการสนับสนุนและให้กำลังใจกันทางหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการปฏิบัติตนเยี่ยงบุคคลรุ่งอรุณนั่นเอง

—————————————————————————————

เขียนโดย ดร. ณัฐชานนท์ โกมุทพุฒิพงศ์