ข้อกำหนดให้กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถเลือกปฎิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 และ 19 ทำไปเพื่อใคร

ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ และกำหนดให้เริ่มบังคับใช้ในปี พ.ศ.2554 เป็นต้นไปนั้น มาตรฐานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติทางบัญชีที่ไม่ซับซ้อนและสร้างภาระให้แก่กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดเล็กและอาจไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทย (เต็มรูปแบบมาใช้)

แม้มาตรฐานดังกล่าวจะได้กำหนดวัตถุประสงค์ข้างต้นไว้อย่างชัดเจน แต่ยังระบุข้อยกเว้นให้กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถเลือกใช้มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ ที่กำหนดให้กิจการต้องวัดมูลค่าและรับรู้สินทรัพย์และหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ที่เกิดจากผลแตกต่างชั่วคราวระหว่างจำนวนเงินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบัญชีและกฎหมายภาษีอากร และสามารถเลือกใช้มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 19 เรื่องผลประโยชน์พนักงาน ที่กำหนดให้กิจการรับรู้ภาระหนี้สินสุทธิจากผลประโยชน์พนักงานระยะยาวตามวิธี Projected Unit Credit Method ตามหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าข้อยกเว้นที่ไม่จำเป็นจะทำให้เกิดความหลากหลายในแนวปฏิบัติทางการบัญชีจนเกิดภาวะความไม่มีมาตรฐานในการรายงานทางการเงิน นอกจากนั้น แนวปฏิบัติทั้งสองเรื่องอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไป

1. ผู้ใช้งบการเงินอาจไม่ให้ความสนใจกับภาษีเงินได้รอตัดบัญชี

แม้หลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยจะแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีและหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี จะมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของนักลงทุนในบริบทของกิจการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ [ดูตัวอย่าง Ayer (1998)] แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยกลไกของการรายงานสินทรัพย์และหนี้สิน ที่อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระแสเงินสดที่กิจการจะก่อให้เกิดได้จริง เนื่องจากรายการดังกล่าวไม่ได้สะท้อนมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์และหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชีอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น การตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีสำหรับจำนวนเงินที่กิจการคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ในอนาคตยังเปิดโอกาสให้กิจการแต่งตัวเลขทางบัญชีได้ [ดูตัวอย่าง Schrand and Wong (2003)] แม้ว่าแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีของประเทศไทยจะให้รับรู้รายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีได้เท่ากับจำนวนเงินที่กิจการคาดว่าจะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาหักภาษี โดยไม่ต้องแสดงค่าผื่อการลดมูลค่าของสินทรัพย์ภาษีเงินได้ แต่ประมาณการของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีที่ไม่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะใช้หักภาษีได้ก็ก่อให้เกิดโอกาสในการแต่งตัวเลขทางบัญชีได้เช่นกัน

PricewaterhouseCoopers (2007) สำรวจผู้เชี่ยวชาญการลงทุน (Investment professionals) จากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป และพบว่านักวิเคราะห์หลักทรัพย์กว่าร้อยละ 60 ระบุว่าไม่ใช้ข้อมูลภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (กว่าร้อยละ 70 สำหรับผู้เชี่ยวชาญการลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ตำราอ้างอิงสำหรับการสอบเป็นผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์ยังแสดงการปรับรายการภาษีเงินได้รอตัดบัญชีให้เป็นภาษีเงินได้ในรอบปัจจุบัน (Current tax) เพื่อสะท้อนกระแสเงินสดที่กิจการต้องชำระสุทธิ [ดูตัวอย่าง White, Sondhi, and Fried (2002)]

ประเด็นคำถามที่สำคัญหนีไม่พ้นว่าจะกำหนดข้อยกเว้นดังกล่าวสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะเพื่ออะไร เมื่อผู้ใช้งบการเงินส่วนใหญ่ของกิจการที่มีส่วนได้เสียยังไม่ต้องการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และไม่มีหลักฐานสนับสนุนการใช้ข้อมูลดังกล่าวของผู้ใช้งบการเงินของกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะแต่อย่างใด การสร้างข้อยกเว้นดังกล่าวจึงทำให้เกิดความไม่สม่ำเสมอในการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะโดยไม่จำเป็น

2. วิธีการวัดมูลค่าผลประโยชน์พนักงานตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่ขัดกับหลักการที่ปรากฎในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ และไม่จำเป็นต้องเขียนข้อยกเว้นให้เกิดความไม่สม่ำเสมอในมาตรฐาน

มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนดให้กิจการต้องรับรู้ประมาณการหนี้สิน รวมถึงผลประโยชน์พนักงานระยะยาว โดยมาตรฐานระบุว่า กิจการต้องรับรู้ผลประโยชน์ของพนักงานด้วยจำนวนประมาณการที่ดีที่สุดของรายจ่ายที่ต้องนำไปจ่ายชำระภาระผูกพันในปัจจุบัน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ข้อกำหนดดังกล่าวเปิดช่องให้กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะใช้วิธีการต่างๆ ในการวัดมูลค่าภาระผูกพันได้ โดยกิจการอาจเลือกใช้วิธี Projected Unit Credit Method ตามวิธีการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือไม่ก็ได้ การกำหนดข้อยกเว้นในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะจึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่จำเป็นและก่อให้เกิดความไม่สม่ำเสมอในการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงิน

ผมเห็นว่าคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีควรตระหนักถึงความไม่สม่ำเสมอที่เกิดขึ้นในมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะโดยไม่จำเป็น และสมควรต้องหันกลับมาถามตัวเองบ้างว่าข้อกำหนดเหล่านั้นทำขึ้นเพื่อใคร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Ayers, Benjamin C.. 1998. “Deferred tax accounting under SFAS No.109: An empirical investigation of its incremental value-relevance relative to APB No.11”, Accounting Review (April). p.195-212.

PricewaterhouseCoopers. 2007. Performance statement coming together to shape the future, International survey of the views of both the investment community and companies on the performance statement (December). P.26-27.

Schrand, Catherine, and M.H. Franco Wong. 2003. “Earnings management using the valuation allowance for deferred tax assets under SFAS 109, Contemporary Accounting Research (Fall). p.579-611.

White, Gerrald, Ashwinpaul Sondhi, and Dov Fried. 2002. The Analysis and Use of Financial Statements, John Wiley and Sons.

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค