การแสดงรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี

มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 เรื่อง ภาษีเงินได้ กำหนดให้กิจการรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี สำหรับผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษีทุกรายการ ได้เพียงเท่ากับจำนวนเงินที่เป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่ากิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาใช้หักภาษีได้ (TAS 12.24) ข้อกำหนดดังกล่าวบังคับให้กิจการทำประมาณการจำนวนเงินของผลต่างชั่วคราวที่จะใช้หักภาษีได้จริง และหากมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีหรือกฎหมายภาษีอากร การประเมินประโยชน์ที่จะได้รับจากสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงลักษณะการได้รับประโยชน์ที่คาดไว้จากสินทรัพย์ กิจการต้องรับรู้ภาษีเงินได้รดการตัดบัญชีที่เกิดขึ้นในกำไรขาดทุน เว้นแต่รายการนั้นจะเกี่ยวข้องกับรายการที่รับรู้ไว้นอกกำไรหรือขาดทุนแล้วในอดีต (TAS 12.60) แนวปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าวจึงมีนัยว่ากิจการจะปรับปรุงมูลค่าตามบัญชีโดยตรงเข้าไปยังบัญชีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี โดยไม่ตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของรายการดังกล่าว

การแสดงรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้กิจการรับรู้สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีด้วยจำนวนเงินผลต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษีทุกรายการ แต่ให้ตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี สำหรับจำนวนเงินผลแตกต่างชั่วคราวที่กิจการคาดว่าไม่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาใช้หักภาษีได้ งานวิจัยพบว่าการตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีสำหรับจำนวนเงินที่กิจการคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์ในอนาคตยังเปิดโอกาสให้กิจการแต่งตัวเลขทางบัญชีได้ [ดูตัวอย่าง Schrand and Wong (2003)]

หากกิจการใช้ดุลยพินิจในการประมาณการจำนวนเงินของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีที่ไม่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่ากิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาใช้หักภาษีได้ในการตกแต่งตัวเลขทางการบัญชี การแสดงจำนวนเงินสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสุทธิจากส่วนที่กิจการคาดว่าจะไม่สามารถใช้หักภาษีได้จะเป็นข้อมูลบัญชีที่มีประโยชน์น้อยกว่าการแสดงยอดสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสำหรับผลแตกต่างชั่วคราวที่ใช้หักภาษีได้ทุกรายการด้วยสาเหตุสองประการ

  1. การแสดงจำนวนเงินของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสำหรับผลแตกต่างชั่วคราวทั้งหมด และปรับปรุงด้วยจำนวนเงินที่ไม่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวมาใช้หักภาษี จะช่วยให้จำนวนเงินรวมของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีตั้งอยู่บนพื้นฐานที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ และนักลงทุนสามารถประเมินการใช้ดุลยพินิจเกี่ยวกับการตั้งค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าของบัญชีดังกล่าวได้
  2. การแสดงจำนวนเงินของสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีสำหรับผลแตกต่างชั่วคราวทั้งหมด และปรับปรุงด้วยจำนวนเงินที่ไม่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวมาใช้หักภาษี อาจให้ข้อมูลส่วนเพิ่มว่ากิจการไม่สามารถก่อให้เกิดกำไรทางภาษีได้เพียงพอที่จะได้รับประโยชน์จากรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี เช่น กิจการมีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่สามารถใช้หักภาษีได้ในอนาคตไม่เกิน 5 ปี (เพียงรายการเดียว) การแสดงรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ปรับปรุงด้วยค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าเต็มจำนวนอาจให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้งบการเงินว่ากิจการจะไม่มีกำไรทางภาษีเลยในอนาคตเป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น แต่แนวปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้กิจการตั้งสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเท่ากับจำนวนเงินที่กิจการคาดว่าเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะใช้ผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาหักภาษีได้ อาจทำให้กิจการไม่ได้แสดงรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีไว้เลย ทำให้ผู้ใช้งบการเงินได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์น้อยกว่า

โดยทฤษฎีแล้ว การให้ข้อมูลด้วยยอดรวมและแสดงรายการปรับปรุงเพื่อให้จำนวนเงินมูลค่าตามบัญชี ย่อมให้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากกว่าข้อมูลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของยอดจำนวนเงินสุทธิ ผมเห็นว่าคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศน่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมสักนิดว่าข้อกำหนดที่ให้แสดงรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ได้เพียงเท่ากับจำนวนเงินที่เป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่ากิจการจะมีกำไรทางภาษีเพียงพอที่จะนำผลแตกต่างชั่วคราวนั้นมาใช้หักภาษีได้ (โดยมีนัยว่าให้ปรับปรุงกับบัญชีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีโดยตรง ไม่ต้องตั้งค่าเผื่อการลดมูลค่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา) นั้นตั้งอยู่บนหลักการใด

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค