การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

ธุรกรรมระหว่างบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันเกิดขึ้นตามปกติของการดำเนินธุรกิจ และหลายองค์กรรวมธุรกิจเพื่อให้กิจการสามารถได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในหลายรูปแบบ เช่น การเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่สามารถควบคุมได้ เป็นต้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการผ่องถ่ายความมั่งคั่งระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ได้ เช่น ระหว่างเจ้าของที่มีอำนาจในการบริหารและเจ้าของที่ไม่มีอำนาจในการบริหาร ระหว่างผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมและผู้ถือหุ้นที่ไม่มีอำนาจควบคุม ระหว่างเจ้าของและผู้บริหาร หรือระหว่างเจ้าของกิจการและเจ้าหนี้ เป็นต้น ความขัดแย้งเกี่ยวกับส่วนได้เสียของบุคคลหรือกิจการต่าง ๆ จึงสามารถนำไปสู่ปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) ผมคิดว่าการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันจึงเป็นประเด็นสำคัญ และมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะไม่ควรยกเว้นข้อกำหนดดังกล่าว

1. ปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมคืออะไร

ปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมเกิดจากปัญหาระหว่างตัวการและตัวแทน (Principal-Agent Problem) ที่ตัวการ (Principal) และตัวแทน (Agent) มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล (Information Asymmetry) ที่ตัวแทนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำ พฤติกรรมหรือความตั้งใจของตัวแทนได้ เนื่องจากตัวการไม่สามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานหรือพฤติกรรมอื่นของตัวแทนได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ตัวแทนมีพฤติกรรมที่อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวการ ต่อไปนี้คือตัวอย่างของปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรม

ก. ธนาคาร (ตัวการ) ให้เงินกู้แก่ลูกหนี้ (ตัวแทน) โดยธนาคารอาจไม่สามารถติดตามตรวจสอบการดำเนินการและการใช้เงินของลูกหนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลอาจส่งผลให้ลูกหนี้ดำเนินการใด ๆ เพื่อโอนความมั่งคั่งจากธนาคารสู่เจ้าของได้ เช่น จ่ายเงินปันผลจากเงินกู้ยืมด้วยจำนวนเงินที่สูงเกินสมควร การลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงเกินระดับเหมาะสม การกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นจำนวนมากที่ส่งผลต่อความเสี่ยงส่วนเพิ่มแก่ธนาคาร เป็นต้น โดยทั่วไป ธนาคารจึงมักแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญากู้ยืม (Debt Covenants)เพื่อจำกัดขอบเขตของการดำเนินการต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อความเสี่ยงแก่ธนาคาร

ข. เจ้าของกิจการ (ตัวการ) ว่าจ้างผู้บริหาร (ตัวแทน) ให้บริหารงานของกิจการ อรรถประโยชน์ที่ผู้บริหารจะได้รับขึ้นอยู่กับค่าตอบแทนที่ได้สุทธิจากต้นทุนทั้งหมดจากความพยายามในการทำงาน ขณะที่ผู้บริหารต้องการค่าตอบแทนสูง โดยใช้ความพยายามในการทำงานน้อย แต่เจ้าของกิจการต้องการให้ผู้บริหารตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่กิจการและผลตอบแทนให้กับเจ้าของ เมื่อทราบเช่นนี้ เจ้าของกิจการมักหาทางแก้ปัญหาด้วยการกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารมีส่วนได้เสียในการทำงานที่สอดคล้องกับเจ้าของกิจการ เช่น การกำหนดค่าตอบแทนบนพื้นฐานของกำไรส่วนเกิน (Residual Income) หรือมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added) เป็นต้น

ค. เจ้าของกิจการที่มีอำนาจบริหารหรือเจ้าของที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนมาก (ตัวการ) อาจผ่องถ่ายความมั่งคั่งจากเจ้าของที่ไม่มีอำนาจบริหารหรือเจ้าของที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (ตัวแทน) ด้วยการทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การให้เงินกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย การทำธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์กับบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกันในราคาที่ต่างจากราคาตลาด เป็นต้น กลไกในการกำกับดูแลกิจการมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว

ในภาวะที่ตัวการประสบปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมดังกล่าว ตัวแทนสามารถแก้ปัญหาในระดับหนึ่งได้ตามวิธีข้างต้นที่ได้กล่าวถึง หากแนวทางดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมได้ทั้งหมด ตัวการคงต้องหาหนทางในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองผ่านกลไกการกำหนดราคา (Price Protection) เช่น ธนาคารอาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้สูงขึ้น นักลงทุนกำหนดอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงขึ้นที่จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของกิจการเพิ่มสูงขึ้นและมูลค่ากิจการลดลง เป็นต้น

2. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลจึงเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 24 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน จึงเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลระหว่างตัวการและตัวแทน ที่ช่วยให้ตัวการสามารถติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมของตัวแทนได้ดียิ่งขึ้น

มาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าวกำหนดให้กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเกี่ยวกับความสัมพันธ์และรายการระหว่างบุคคลหรือกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินทราบถึงลักษณะของรายการนั้นและทราบต่อไปอีกว่าธุรกรรมต่าง ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกำหนดราคาที่สอดคล้องกับราคาที่ตกลงกันในธุรกรรมตามปกติของกิจการ ที่จะไม่ก่อให้เกิดการผ่องถ่ายความมั่งคั่งระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ เช่น การขายสินค้าให้แก่กิจการหรือผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกันในราคาทุนหรือต่ำกว่าทุน เป็นต้น นอกจากนั้นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยยังรวมถึงค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่ผู้บริหารสำคัญของกิจการจำแนกตามประเภทของค่าตอบแทน

มาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าวกำหนดความสัมพันธ์กับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ให้หมายความรวมถึง บุคคลหรือกิจการที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) มีความสัมพันธ์กับกิจการไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยผ่านกิจการอื่นแห่งหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งแห่งโดยบุคคลหรือกิจการนั้น (2) เป็นบริษัทร่วมของกิจการ (3) เป็นการร่วมค้าที่กิจการเป็นผู้ร่วมค้า (4) เป็นผู้บริหารสำคัญของกิจการ หรือของบริษัทใหญ่ของกิจการ (5) เป็นสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดของบุคคลตามข้อ 1 หรือ 4 (6) เป็นกิจการที่บุคคลตามข้อ 4 หรือ 5 มีอำนาจควบคุมหรือควบคุมร่วม หรือมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญในการออกเสียงในกิจการนั้นๆ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือ (7) เป็นโครงการผลประโยชน์ตอบแทนหลังออกจากงานสำหรับผลประโยชน์ของพนักงานของกิจการหรือของกิจการที่เกี่ยวข้องกันโดยให้พิจารณาจากเนื้อหาของความสัมพันธ์มากกว่ารูปแบบทางกฎหมาย

3. การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันไม่บังคับใช้กับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

แม้ว่ามาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะจะมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระและต้นทุนในการจัดทำงบการเงิน ผมยังเห็นว่าประเด็นปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมเกิดขึ้นได้กับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างเจ้าของกับผู้บริหาร หรือเจ้าของกับธนาคารหรือเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืม กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะอาจเป็นกลุ่มกิจการที่มีกลไกการกำกับดูแลน้อยกว่ากิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ อาจมีความสุ่มเสี่ยงจากปัญหาดังกล่าว

กิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นจากมาตรฐานการบัญชีฉบับดังกล่าวจนถึงปี 2554 และสภาวิชาชีพบัญชียังยึดแนวทางของการยกเว้นข้อกำหนดดังกล่าวในการจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2554

ผมเชื่อว่าหากกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะไม่มีกลไกที่สามารถแก้ปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมได้อย่างสมบูรณ์ อาจทำให้ผู้มีส่วนได้เสียขาดความมั่นใจในการธุรกรรมและดำเนินการลดความเสี่ยงดังกล่าวผ่านกลไกในการกำหนดราคาที่อาจทำให้กิจการต้องแบกรับต้นทุนส่วนเพิ่ม และอาจเป็นภัยคุกคามในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การดำเนินการตามแผนงานของกิจการ และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ ดังนั้นสภาวิชาชีพบัญชีน่าจะให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันกับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะให้มากขึ้น โดยพิจารณาขอบเขตของกิจการหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกัน และระดับของการเปิดเผยข้อมูลให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะด้วย

บรรณานุกรม

[1] สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2552. มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 24 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

[2] Gibbons, Robert. 1992. Game Theory for Applied Economists. Princeton University Press.

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค