การวัดมูลค่ายุติธรรม

คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศจัดทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่13 เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม ขึ้น เพื่อกำหนดนิยามและให้แนวทางในการวัดมูลค่ายุติธรรมเพื่อการรายงานทางการเงิน ขณะที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินก้าวเข้าใกล้การบัญชีมูลค่ายุติธรรม (Fair Value Accounting) เต็มรูปแบบมากขึ้น ขณะที่ผู้ทำบัญชีและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นที่อาจประสบปัญหาความยุ่งยากในการวัดมูลค่ายุติธรรมของรายการบัญชีต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเชื่อถือได้ของข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรม อันเกิดจากข้อสมมติจำนวนมากที่ต้องใช้ในการวัดมูลค่า ผู้เขียนจึงต้องการยกประเด็นในการพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะเชิงคุณภาพและผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อตลาดเงินและตลาดทุน

1. นิยามของมูลค่ายุติธรรมคืออะไร

มูลค่ายุติธรรมคือราคาที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์หรือที่จะต้องจ่ายเพื่อโอนหนี้สินในธุรกรรมที่เกิดขึ้นอย่างปกติระหว่างผู้ร่วมตลาด ณ วันที่วัดมูลค่า (IASB 2011)

2. มูลค่ายุติธรรมเชื่อถือไม่ได้เพราะข้อสมมติที่แตกต่างกันระหว่างบุคคลหรือหน่วยงาน

ในทางทฤษฎี มูลค่ายุติธรรมคำนวณขึ้นบนพื้นฐานของตลาดที่ให้ประโยชน์สูงสุด ที่ผู้ร่วมตลาดใช้สินทรัพย์ในทางที่ให้ประโยชน์สูงสุดและในทางที่ดีที่สุด (Highest and best use) ดังนั้น แนวคิดของมูลค่ายุติธรรมสำหรับองค์ประกอบของงบการเงินต้องมีเพียงราคาเดียว ปัญหาในทางปฏิบัติจึงมีประเด็นเกี่ยวกับการสร้างข้อสมมติที่ต้องสะท้อนความคาดหวังของผู้ร่วมตลาดในตลาดที่จะใช้สินทรัพย์ในทางที่จะให้ประโยชน์สูงสุดและในทางที่ดีที่สุด การวัดมูลค่ายุติธรรมจึงอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการวัดมูลค่ายุติธรรม (Measurement Error) ขึ้น

3. ข้อผิดพลาดในการวัดมูลค่ายุติธรรมจะทำให้ข้อมูลบัญชีเสียความน่าเชื่อถือ (Reliability) หรือไม่

มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 8 เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด ระบุว่าการประมาณการอย่างสมเหตุผลเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำงบการเงินและไม่ทำให้งบการเงินสูญเสียความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ผู้ทำบัญชีที่ใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีอยู่และใช้ดุลยพินิจอย่างเหมาะสมในการกำหนดข้อสมมติในการวัดมูลค่ายุติธรรมแล้ว มูลค่ายุติธรรมที่วัดได้น่าจะมีลักษณะเชิงคุณภาพของความเชื่อถือได้ ตามแม่บทการบัญชี

4. หากผู้ทำบัญชีสามารถวัดมูลค่ายุติธรรมได้โดยไม่มีข้อผิดพลาดเลยแม้แต่น้อย ข้อมูลบัญชีจะเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต้องการจริงหรือ

Grossman and Stiglitz (1980) แสดงให้เห็นว่าตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพสูงด้านข้อมูลเป็นไปไม่ได้ หากราคาหลักทรัพย์สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงและข้อมูลทั้งหมดของกิจการแล้ว ผู้ร่วมตลาดทุกคนสามารถลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามตลาด โดยไม่ต้องเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากผลตอบแทนจากการวิเคราะห์ข้อมูลเท่ากับศูนย์ ที่จะส่งผลให้ตลาดดังกล่าวไม่มีจุดดุลยภาพในทางทฤษฎี ดังนั้นนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียจะเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีเพื่อการตัดสินใจลงทุน หากได้รับผลตอบแทนจากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาด ที่จะส่งผลให้ตลาดกลับเข้าสู่ดุลยภาพได้

หากตลาดไม่มีประสิทธิภาพด้านข้อมูลแล้ว ราคาหลักทรัพย์จะไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หากผู้ทำบัญชีสามารถวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์และหนี้สินได้ครบทุกรายการโดยไม่มีข้อผิดพลาดในการวัดมูลค่าแม้แต่น้อย จะทำให้ส่วนของเจ้าของสะท้อนมูลค่าของกิจการที่แท้จริงออกมาโดยไม่มีข้อผิดพลาด ในกรณีที่มูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาด ผู้ร่วมตลาดทุกคนย่อมตัดสินใจซื้อหลักทรัพย์โดยไม่มีผู้ยินดีขาย ในทางตรงข้าม หากมูลค่าที่แท้จริงต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ร่วมตลาดทุกคนย่อมตัดสินใจขายหลักทรัพย์โดยไม่มีผู้ยินดีซื้อ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ตลาดทุนจะยังคงดำเนินต่อไปได้หรือ

5. ความเชื่อถือได้ (Reliability) กับความเที่ยง (Precision) มีความแตกต่างกัน

แม่บทการบัญชีระบุว่าความเชื่อถือได้ คือ คุณสมบัติของการปราศจากข้อผิดพลาดที่มีสาระสำคัญและความลำเอียงซึ่งทำให้ผู้ใช้งบการเงินเชื่อหรือคาดได้อย่างสมเหตุผลว่าข้อมูลเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรมของข้อมูลที่ต้องการให้แสดง ดังนั้นความเชื่อถือได้จึงแตกต่างจากความเที่ยง ที่สะท้อนคุณสมบัติของการปราศจากข้อผิดพลาด

มูลค่ายุติธรรมตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อสมมติที่สะท้อนความคาดหวังของผู้ร่วมตลาดตามที่กล่าวถึงในข้อ 2 แล้ว ข้อผิดพลาดในการวัดมูลค่ายุติธรรมที่ไม่มีสาระสำคัญและปราศจากความลำเอียงเป็นลักษณะเฉพาะของข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมที่จะให้ข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ โดยมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในระดับหนึ่งที่จะทำให้ผู้ร่วมตลาดมีความเห็นที่ขัดแย้งและก่อให้เกิดธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาด

บทสรุป

ผู้เขียนเชื่อว่ามูลค่ายุติธรรมให้ข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของผู้ร่วมตลาดเงินและตลาดทุน ผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากยกประเด็นเกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการวัดมูลค่ายุติธรรมเป็นประเด็นโจมตีหลักการวัดมูลค่าดังกล่าวในทางปฏิบัติ ผู้เขียนเห็นว่าข้อผิดพลาดในการวัดมูลค่ายุติธรรมที่ไม่มีสาระสำคัญและปราศจากความลำเอียง ไม่ทำให้ข้อมูลบัญชีสูญเสียความเชื่อถือได้ (สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 8) แต่กลับทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมมีความไม่แน่นอน และก่อให้เกิดความเห็นต่างในตลาดที่จะส่งผลให้เกิดธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาด

ผู้อ่านที่สนใจเรื่องมูลค่ายุติธรรมสามารถติดตามบทวิจารณ์ของผู้เขียนในรายละเอียดได้ในวารสารจุฬาลงกรณ์ธุรกิจปริทัศน์ที่จะตีพิมพ์ในปี 2012

บรรณานุกรม

[1] สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2552. มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 8 เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด.

[2] สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2552. แม่บทการบัญชี.

[3] Grossman, S.J. and Stiglitz, J.E. 1980. “On the Impossibility of Informationally Efficient Markets”, American Economic Review, Volume 70, Number 3, 393-408.

[4] International Accounting Standards Board. 2011. International Financial Reporting Standards No. 13, Fair Value Measurement. IFRS Foundation.

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค