การประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่าย

แนวปฏิบัติตามร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินของ IASB กำหนดให้กิจการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดด้วยราคาทุนตัดจำหน่ายตามวิธีผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Loss Model) โดยไม่ต้องรอให้เกิดข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าก่อนทำการทดสอบการด้อยค่า เนื่องจากผู้ร่วมซื้อขายหลักทรัพย์กำหนดราคาของหลักทรัพย์โดยปรับความเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงเพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตจากคู่สัญญาที่มีโอกาสไม่ปฏิบัติตามสัญญา

เมื่อการกำหนดมูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินได้ปรับมูลค่ายุติธรรมเพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิต ณ วันเริ่มต้นรายการแล้ว การรับรู้มูลค่ายุติธรรมในวันเริ่มต้นรายการ รวมถึงการรับรู้ผลตอบแทนที่แท้จริงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับ ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนดให้กิจการแสดงรายได้จากดอกเบี้ยรับโดยเริ่มจากการแสดงดอกเบี้ยรับตามสัญญา หักด้วยรายได้ที่สูญเสียจากเครดิต เพื่อแสดงดอกเบี้ยรับที่แท้จริง

การประเมินการด้อยค่าวิธีนี้จะทำให้การรับรู้รายได้จากสินทรัพย์ทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยราคาทุนตัดจำหน่ายไม่แสดงผลตอบแทนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกระแสเงินสดเต็มจำนวนตามสัญญาที่สูงเกินกว่าจำนวนเงินที่จะได้รับ ที่จะทำให้กิจการต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าในภายหลัง ตามวิธีผลขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว (Incurred loss model)

ความพร้อมด้านข้อมูลในการถือปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้น่าจะช่วยให้ธนาคารมีข้อมูลเพียงพอที่จะกำหนดราคาและต้นทุนการกู้ยืมสำหรับเงินให้กู้แก่บุคคลและนิติบุคคลได้อย่างเหมาะสม และส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวม ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการคำนวณได้ในบทความที่จะนำไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการต่อไปครับ

เอกสารอ้างอิง

International Accounting Standards Board, Financial Instruments: Amortised Cost and Impairment, Exposure Draft, ED/2009/12.

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค