การด้อยค่าของสินทรัพย์: กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการวัดมูลค่ารายการของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ตามย่อหน้า 136 ของมาตรฐานการายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ ระบุให้กิจการต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าของรายการที่ดินอาคารและอุปกรณ์ในงบกำไรขาดทุนหากมีข้อบ่งชี้ว่ารายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์มีมูลค่าลดลงอย่างถาวร ภายใต้เงื่อนไขว่ากิจการสามารถประมาณราคาขายได้อย่างน่าเชื่อถือโดยที่ไม่มีต้นทุนสูงมากจนเกินไป (ไม่จำเป็นต้องเป็นราคาที่ประเมินโดยผู้ประเมินราคาอิสระ) และราคาขายหักด้วยต้นทุนในการขายรายการที่ดินอาคารและอุปกรณ์ต่ำกว่าราคาตามบัญชีของรายการที่ดินอาคารและอุปกรณ์

ในวันที่ 18 เมษายน 2555 สภาวิชาชีพบัญชีประกาศร่างข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะบนเว็บไซต์ ประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญในการอนุญาตให้กิจการสามารถพิจารณามูลค่าจากการใช้ของสินทรัพย์ (ตามวิธีคำนวณที่ระบุในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 การด้อยค่าของสินทรัพย์) แทนประมาณราคาขายหักด้วยต้นทุนในการขายได้ หากมูลค่าจากการใช้สินทรัพย์มีจำนวนสูงกว่าราคาขายหักต้นทุนในการขาย

ข้อกำหนดดังกล่าวขัดกับกรอบแนวคิดในย่อหน้าที่ 30 ที่ระบุว่าเกณฑ์การวัดมูลค่ารายการจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของมูลค่ายุติธรรม หากรายการที่พิจารณานั้นมีมูลค่ายุติธรรมที่สามารถอ้างอิงได้จากตลาดซื้อขายที่มีสภาพคล่องสูง เพื่อลดภาระและต้นทุนในการวัดมูลค่าของรายการและจัดทำงบการเงิน มูลค่าจากการใช้สินทรัพย์ตามวิธีที่ระบุไว้ในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประมาณการมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่สินทรัพย์นั้นจะก่อให้เกิดขึ้นได้ (หรือสามารถประหยัดได้) ที่คิดลดด้วยอัตราคิดลดที่สะท้อนมูลค่าของเงินตามเวลา ความเสี่ยงจากสินทรัพย์นั้น รวมถึงปัจจัยอื่น เช่น สภาพคล่องของสินทรัพย์ (ดูมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 36) ผมมีความเห็นว่าประเด็นที่น่าพิจารณามีดังนี้

1. มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะระบุให้กิจการต้องพิจารณารับรู้ผลขาดทุนจากการปรับมูลค่าของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ลดลงอย่างถาวร เงื่อนไขดังกล่าวน่าจะเป็นข้อบ่งชี้ว่ากระแสเงินสดที่กิจการควรจะได้รับจากสินทรัพย์ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์เพื่อก่อให้เกิดกระแสเงินสด แต่น่าจะได้จากการขายสินทรัพย์
2. กิจการที่สามารถวัดมูลค่าจากการใช้สินทรัพย์ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 36 เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์ น่าจะมีความพร้อมในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์โดยไม่ต้องอ้างอิงราคาตลาด และน่าจะมีความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยที่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศแล้วหรือไม่
3. หากสภาวิชาชีพบัญชีจะอนุญาตให้พิจารณาการด้อยค่าของรายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ด้วยมูลค่าจากการใช้ ที่มีองค์ประกอบของประมาณการกระแสเงินสดคิดลดด้วยอัตราคิดลดที่เหมาะสมที่สะท้อนมูลค่าของเงินตามเวลาและความเสี่ยงจากสินทรัพย์นั้นแล้ว สภาวิชาชีพบัญชีควรพิจารณาปรับปรุงกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการวัดมูลค่าองค์ประกอบของงบการเงิน และอนุญาตหรือบังคับให้วัดมูลค่ายุติธรรมของรายการอื่นบนพื้นฐานที่อาจแตกต่างไปจากราคาตลาดที่ได้จากตลาดซื้อขายคล่องด้วย เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอในการนำมาตรฐานการบัญชีมาถือปฏิบัติ

เอกสารอ้างอิง

http://www.fap.or.th ร่างประกาศสภาวิชาชีพบัญชี เรื่อง ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค