การดำเนินงานต่อเนื่อง (Going Concern) แต่เดิมเรียกว่าการดำรงอยู่ เป็นข้อสมมติที่สำคัญในการจัดทำงบการเงินตามแม่บทการรายงานทางการเงิน ว่าผู้บริหารจะไม่มีเจตนาในการยกเลิกการดำเนินงานในระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่ในงบการเงิน และผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ในการตรวจสอบให้ได้ความพอใจในเรื่องความเหมาะสมของการใช้ข้อสมมติเรื่องการดำเนินงานต่อเนื่องในการจัดทำงบการเงินของผู้บริหาร มาตรฐานการสอบบัญชีรหัส 570 เรื่องการดำเนินงานต่อเนื่อง ได้ให้ตัวอย่างสถานการณ์ที่ทำให้เห็นว่ากิจการอาจมีปัญหาเรื่องการดำเนินงานต่อเนื่อง เช่น การมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน เงินกู้ยืมถึงกำหนดชำระโดยไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่ากิจการจะชำระหนี้สินได้หรือผ่อนผันการชำระหนี้ได้ การมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานติดลบ การมีขาดทุนสะสมเป็นเวลาหลายปี การที่ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามกำหนด การสูญเสียผู้บริหารที่สำคัญ กิจการถูกฟ้องร้องและหากแพ้คดีกิจการจะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ เป็นต้น ความยากของการประเมินการดำเนินงานต่อเนื่องก็คือการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตโดยใช้ข้อมูลในปัจจุบันว่ากิจการจะมีปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่องหรือไม่ โดยพิจารณาจากตัวอย่างสถานการณ์ที่กล่าวมา การประเมินการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการนั้น ผู้สอบบัญชีควรทำการประเมินตั้งแต่ตอนต้นงวดบัญชี โดยไม่ควรรอให้ถึงตอนสิ้นงวดบัญชี เนื่องจากผู้สอบบัญชีอาจไม่ได้รับหลักฐานที่ต้องการอย่างทันเวลาเพื่อสรุปผลการตรวจสอบและเสนอรายงานของผู้สอบบัญชี

อย่างไรก็ตาม จากกรณีของบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่งที่ให้บริการสถานออกกำลังกายที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอาจไม่ได้มีเพียงปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่องเพียงเรื่องเดียว เนื่องจากกิจการมีการรายงานผลขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี แต่มีการส่งเงินออกนอกประเทศถึงประมาณ 1,700 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลกำลังสอบสวนเพื่อพิจารณาว่าอาจเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนและผ่องถ่ายเงินออกนอกประเทศหรือไม่ ดังนั้น ผู้สอบบัญชีควรพิจารณาประเด็นเรื่องการทุจริตด้วยนอกเหนือจากการพิจารณาปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่องเพียงอย่างเดียว

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์