มาตรฐานการควบคุมคุณภาพฉบับที่ 1 หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai Standards on Quality Control no. 1 (TSQC1) มีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2557 นี้ ซึ่งสำนักงานสอบบัญชีได้เตรียมความพร้อมมาก่อนที่จะบังคับใช้ เนื่องจากการปฏิบัติตามมาตรฐานฉบับนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการปฏิบัติงานและระบบการบริหารงานสอบบัญชีมากพอสมควร สาเหตุที่ต้องมีการใช้มาตรฐานฉบับนี้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สอบบัญชีได้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและข้อกำหนดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและนำเสนอรายงานผู้สอบบัญชีได้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี ทำให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสำนักงานสอบบัญชีในเวทีสากลมากขึ้น

มาตรฐานฉบับนี้กล่าวถึงการควบคุมคุณภาพสำนักงานสอบบัญชีใน 6 เรื่องใหญ่ด้วยกัน คือ 1. ความรับผิดชอบของผู้นำต่อคุณภาพ 2. ข้อกำหนดด้านจรรยาบรรณ 3. การตอบรับและคงไว้ซึ่งงานกับลูกค้า 4. ทรัพยากรบุคคล 5. การปฏิบัติงาน 6. การติดตามผล ทั้งนี้ สำนักงานสอบบัญชีต้องเขียนระบบควบคุมคุณภาพทุกเรื่องที่กล่าวมาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยถือว่าถ้าเรื่องใด ไม่ได้เขียนไว้ แสดงว่าไม่ได้ทำ สาระสำคัญโดยย่อของแต่ละประเด็นมีดังนี้ 1. ความรับผิดชอบของผู้นำต่อคุณภาพนั้นกล่าวถึงผู้ที่รับผิดชอบเรื่องคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชี โดยต้องมีการกำหนดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของสำนักงาน 2. ข้อกำหนดจรรยาบรรณจะกล่าวถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชี 3. การตอบรับและคงไว้ซึ่งงานกับลูกค้านั้น จะกล่าวถึงกระบวนการพิจารณาและประเมินความเสี่ยงในการรับงานสอบบัญชีครั้งแรกและการพิจารณาว่าจะรับงานต่อไปหรือไม่ 4. ทรัพยากรบุคคลจะกล่าวถึงขั้นตอนตั้งแต่การวางแผนกำลังคน การกำหนดคุณสมบัติของพนักงาน การรับคนเข้าทำงาน การพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงาน การประเมินผลและเลื่อนตำแหน่งพนักงานโดยต้องเชื่อมโยงกับระบบคุณภาพของสำนักงาน 5. การปฏิบัติงาน จะกล่าวถึงกระบวนการทำงานของผู้สอบบัญชีตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การปฏิบัติงานและการสรุปผลงาน โดยต้องมี EQCR (Engagement Quality Control Reviewer) หรือผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี ซึ่งไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานสอบบัญชีในงานนั้นๆ เพื่อเป็นผู้สอบทานในประเด็นสำคัญ ตลอดจนการปรึกษาหารือในกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกัน 6. การติดตามผล นั้นจะกล่าวถึงการที่สำนักงานสอบบัญชีต้องกำหนดบุคคลหรือระบบในการติดตามผลว่าข้อกำหนดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อนั้น มีการปฏิบัติตามอย่างถูกต้องเหมาะสม

ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ทำหน้าที่บังคับใช้การปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวกับสำนักงานสอบบัญชีที่ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนสภาวิชาชีพบัญชีก็ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมคุณภาพดังกล่าวด้วย และได้ออกคู่มือเกี่ยวกับ TSQC1 ให้สำนักงานสอบบัญชีนำไปใช้ง่ายขึ้น ดังนั้น หลังจากการการประกาศใช้มาตรฐานฉบับนี้ จะทำให้ผู้สอบบัญชีต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานมากยิ่งขึ้น แม้ว่าผู้สอบบัญชีจะต้องใช้ต้นทุนและเวลาค่อนข้างมากในระยะแรก แต่จะทำให้คุณภาพการสอบบัญชีในระยะยาวดีขึ้น การรับงานสอบบัญชีเกินปริมาณที่ผู้สอบบัญชีจะสามารถตรวจสอบได้อย่างมีคุณภาพจะลดลง และส่งผลทางอ้อมให้ลดการตัดราคาค่าธรรมเนียมการสอบบัญชีระหว่างผู้สอบบัญชีด้วยกัน เนื่องจากผู้สอบบัญชีจะไม่สามารถทำการสอบบัญชีให้มีคุณภาพด้วยค่าธรรมเนียมการสอบบัญชีที่ต่ำมากอีกต่อไป

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์