การเลือกตัวอย่างมีบทบาทเป็นอย่างมากในการสอบบัญชี เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่ได้ตรวจสอบรายการทั้งหมด 100% เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ และถึงแม้จะสามารถทำได้ก็ทำให้ต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้สอบบัญชีต้องเลือกรายการที่เป็นตัวแทนของประชากรให้มากที่สุดเพื่อมาทดสอบและสรุปผลไปยังประชากร คำถามที่ตามมาคือผู้สอบบัญชีต้องใช้วิธีใดในการเลือกตัวอย่าง

การเลือกตัวอย่างสามารถทำได้ 2 วิธีคือการเลือกตัวอย่างโดยใช้สถิติและการเลือกตัวอย่างที่ไม่ใช้สถิติ ผู้สอบบัญชีสามารถใช้ได้ทั้งสองวิธีในการเลือกตัวอย่าง วิธีที่ใช้สถิติจะทำให้ช่วยลดการใช้ดุลยพินิจของผู้สอบบัญชีและทำให้ลดอคติ (Bias) ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการเลือกตัวอย่าง ส่วนวิธีที่ไม่ใช่สถิติทำให้ผู้สอบบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจมากขึ้นและอาจมีความเสี่ยงในการเลือกตัวอย่างมากกว่า การเลือกตัวอย่างอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือการเลือกตัวอย่างเพื่อทดสอบการควบคุมและการเลือกตัวอย่างเพื่อการตรวจสอบเนื้อหาสาระ การเลือกตัวอย่างเพื่อทดสอบการควบคุมนั้น ผู้สอบบัญชีจะเลือกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อทดสอบว่ามีการควบคุมอยู่ในกิจการหรือไม่ มีอัตราเบี่ยงเบนหรือข้อผิดพลาดอยู่ในระบบการควบคุมหรือไม่ (Deviation) ซึ่งจะสนใจว่ามีหรือไม่มีการควบคุม แต่จะไม่สนใจเรื่องจำนวนเงินมากหรือน้อย เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ตามมาตรฐานการสอบบัญชีให้ถือว่าอัตราการเบี่ยงเบนของตัวอย่างเป็นอัตราเบี่ยงเบนของประชากร (ซึ่งแตกต่างจากหลักสถิติ) เนื่องจากคาดว่าผู้สอบบัญชีจะไม่สามารถหาอัตราเบี่ยงเบนของประชากรได้ ส่วนการเลือกตัวอย่างเพื่อตรวจสอบเนื้อหาสาระนั้น ผู้สอบบัญชีจะสนใจเรื่องจำนวนเงินเพื่อหาข้อผิดพลาดหรือข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันมีสาระสำคัญ (Material Misstatement) มาตรฐานการสอบบัญชีกำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องพยากรณ์ข้อผิดพลาดของตัวอย่างไปยังประชากร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือผู้สอบบัญชีส่วนหนึ่งไม่ได้พยากรณ์ข้อผิดพลาดไปยังประชากร แต่จะปรับปรุงเฉพาะข้อผิดพลาดที่ตรวจพบจากตัวอย่างเท่านั้น ดังนั้น ผู้สอบบัญชีกำลังปรับปรุงตัวอย่างให้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าประชากรจะถูกต้อง

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์