ตามที่ International Auditing and Assurance Standards Board (IAASB) มีการเสนอร่างรายงานของผู้สอบบัญชีรูปแบบใหม่ โดยกำหนดให้ผู้สอบบัญชีพิจารณาเสนอวรรค “เรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี” และได้มีการเสนอร่างมาตรฐานการสอบบัญชีรหัส 701 Communicating Key Audit Matters in the Independent Auditor’s Report ซึ่งกำหนดคำนิยามของเรื่องสำคัญจากการสอบบัญชีว่าหมายถึงเรื่องที่ผู้สอบบัญชีพิจารณาจากดุลยพินิจแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดจากการสื่อสารกับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของลูกค้าสอบบัญชี ซึ่งรวมถึง 1. เรื่องที่มีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญหรือเกี่ยวกับดุลยพินิจที่สำคัญของผู้สอบบัญชี 2. เรื่องหรือประเด็นปัญหาที่สำคัญที่ผู้สอบบัญชีพบในระหว่างการสอบบัญชี รวมถึงการได้รับหลักฐานที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ 3.สถานการณ์ที่ทำให้ผู้สอบบัญชีต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับแผนกลยุทธ์การสอบบัญชี รวมถึงผลที่เกิดจากการระบุจุดบกพร่องที่สำคัญในระบบควบคุมภายใน ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจว่าเรื่องใดสมควรจะนำเสนอในรายงานของผู้สอบบัญชี IAASB ได้ยกตัวอย่าง “เรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี” เช่น ปัจจัยที่กระทบกับการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยม ความเหมาะสมของแบบจำลองที่ใช้ในการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน ความยากในการตรวจสอบการรวมธุรกิจ และความเสี่ยงจากการทุจริตอันเนื่องมาจากการรับรู้รายได้ตามสัญญา เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีต้องไม่ทำให้ผู้ใช้รายงานของผู้สอบบัญชีเข้าใจไปว่าผู้สอบบัญชีมีการเสนอความเห็นแบบที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจาก “เรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี” ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีเสนอรายงานของผู้สอบบัญชีแบบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีเงื่อนไข ไม่แสดงความเห็น หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง ผู้สอบบัญชีต้องอธิบายสาเหตุของการนำเสนอรายงานไว้ในวรรคเกณฑ์ในการแสดงความเห็น ซึ่งจะเป็นวรรคต่างหากจากวรรค “เรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี”
อย่างไรก็ตาม หากผู้สอบบัญชีพิจารณาแล้วว่าลูกค้าสอบบัญชีไม่มี “เรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี” ที่ต้องนำเสนอในหน้ารายงานของผู้สอบบัญชี มาตรฐานรหัส 701 กำหนดไว้ว่าผู้สอบบัญชีต้องมีการสื่อสารกับผู้สอบทานการควบคุมคุณภาพของงานสอบบัญชี และสื่อสารกับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการของลูกค้าสอบบัญชี และให้รายงานไว้ในรายงานของผู้สอบบัญชีว่าไม่มีเรื่องสำคัญจากการสอบบัญชี

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. สมพงษ์ พรอุปถัมภ์