คุณธนะชัย สันติชัยกูล01112

นายกสมาคมนิสิตเก่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

01111

 

 

 

สิ่งที่ได้จากคณะบัญชี จุฬาฯ กับความสำเร็จในวันนี้
“ทฤษฎีที่ได้เรียนมา ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ชีวิตในจุฬาฯ ที่มีความผูกพัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หล่อหลอมให้เรามีการทำงานอย่างเป็น teamwork มีการทำงานร่วมกันหลายๆ อย่าง และยังมีเรื่องของ SOTUS ความสัมพันธ์ของรุ่นพี่รุ่นน้อง ทั้งหมดนี้มันคือ network มันคือ connection ดังนั้น ผมว่าอีกส่วนหนึ่งในการประสบความสำเร็จ ก็มาจากความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง การมีรุ่นพี่มาแนะนำการทำงาน เหมือนเราเข้าไปเรียนปี 1 ใหม่ เพราะว่าชีวิตการทำงานก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่สามารถเอาความรู้ที่เรียนมา apply ได้ทุกอย่าง”

“จุฬาฯ ก็ยังสอนให้เคารพรุ่นพี่ บางคนชอบบอกว่าเด็กจุฬาฯ หัวอ่อน ใช้ทำอะไรก็ได้ จริงๆ การเป็นคนหัวอ่อนระดับเริ่มเข้าทำงานตอนเป็น junior ใหม่ๆ ก็เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในด้านการทำงาน ซึ่งจากตอนนั้นจนถึงปัจจุบันก็ยังต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ”

มีแนวทางในการทำงานให้ประสบความสำเร็จอย่างไร
“เราต้องไม่เป็นคนแข็งกระด้าง เคารพรุ่นพี่ ให้รุ่นพี่แนะนำ ทั้งนี้เราต้องทำงานด้วยความตั้งใจ ไม่เกี่ยงงาน พร้อมจะเรียนรู้ ถ้าเราไม่ฝักใฝ่ในการเรียนรู้เราก็อาจจะเป็นได้แค่นักบัญชี หรือ สมุห์บัญชี นอกจากนี้เราก็ต้องมี positive thinking ในการทำงาน และต้องทำงานแบบ teamwork ให้เป็น”

เป็นถึงนายกสมาคมนิสิตเก่าฯ แสดงว่าต้องมีความผูกพันกับคณะฯมาก
“จริงๆ พูดแล้วอาจจะตลก ก็เหมือนน้องใหม่ที่จบมาหลายๆ คน ที่ต้องทำงาน เวลาที่จะกลับไปคณะฯ ก็จะน้อยลง งานด้านสอบบัญชีในช่วง2-3ปี ก็ยอมรับว่าหนักมาก ก็จะไม่ค่อยมีเวลา ตัวผมเองก็ไปเรียนต่อMBA ที่ธรรมศาสตร์ด้วย ความผูกพันกับคณะฯ ในช่วงต้นก็หายไป หลายคนอาจจะแปลกใจว่า แล้วมาเป็นนายกสมาคมฯ ได้ไง”

ว่าแล้วก็ถามเลย…แล้วท่านได้มาเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าฯ ได้อย่างไร
“ก็พอทำงานมาได้ระยะหนึ่ง มีตำแหน่งงาน ความรับผิดชอบได้ระดับหนึ่ง ก็ได้ถูกทาบทามให้เป็นกรรมการสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชี (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสภาวิชาชีพบัญชี) ตอนนั้นเป็นสมาคมนักบัญชี ไม่ใช่สภาวิชาชีพแบบในปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นด้านสื่อด้านประชาสัมพันธ์ ใครๆ ก็ให้มาหาผม และในวงการก็จะมีรุ่นพี่ที่เราคุ้นเคย มีเพื่อนที่ทำ เอส จี วี ณ ถลาง ยุคนั้น (คือบริษัท Arthur Andersen แล้วก็กลายมาเป็น KPMG ในปัจจุบัน) พอมาทำงานสมาคมนักบัญชี ก็เลยได้พบกับ พี่สหัส ตรีทิพยบุตร (นายกสมาคมนิสิตเก่าฯ คนที่ 16) จึงชวนให้มาเป็นกรรมการสมาคมฯ และที่ผ่านมาก็ได้มาช่วยคณะฯ บางครั้ง ไม่ได้ผูกพันกับคณะฯเท่าไหร่ มีมาช่วยคณะฯ ทำสไลด์ครบรอบ50ปี เอารูปอะไรต่างๆ มาจากพี่ๆ หลายรุ่น ตั้งแต่รุ่น7 รุ่น8 จนได้เป็นเรื่องราวขึ้นมา”

“พอมาช่วยงานที่สมาคมฯ ระยะหนึ่ง พี่พิมพ์ใจ โพธิภักติ Shi26 ซึ่งเป็นนายกสมาคมฯต่อจากพี่สหัส ก็ให้ผมเป็นเลขาธิการ ทำงานกับพี่พิมพ์ใจได้4ปี ก็ได้รับเกียรติจากนิสิตเก่าเสนอชื่อมาเป็นนายกสมาคมฯ”

มีแรงบันดาลใจอะไร ที่ทำให้ตอบรับตำแหน่งนายกสมาคมนิสิตเก่าฯ
“ผมก็คิดว่าเหตุผลที่ส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ผมไม่ค่อยผูกพันกับสมาคมฯ เท่าไรในอดีต มันก็มีปัจจัยหลายๆอย่าง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้คิดว่าจะทำยังไงให้เราผูกพันกับคณะฯ เราจะเห็นว่าสมาคมศิษย์เก่าฯ มีแต่ผู้อาวุโสมากๆ จะมี gap ค่อนข้างมาก บางคนเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองที่กลับมาดูแลคณะฯ เพราะคณะฯ ก็ดูแลตัวเองได้ เลยทำให้อาจเกิดช่องว่างพวกนี้เยอะ แต่พวกคนที่เข้ามาก็มีจิตสาธารณะ พอเราเข้ามาทำงานกับรุ่นพี่ เราก็พยายามปรับคุยกับพี่ๆ น้องๆ ที่สโมฯ เพื่อให้เกิดความผูกพัน และลบช่องว่างที่เกิดขึ้นมาในอดีต”

“และจากความคิดเห็นที่มีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆหลายคนที่อยากเข้ามาช่วยคณะฯ อยากเข้ามาช่วยจุฬาฯ แต่ไม่มีช่องทางที่จะเข้ามา ผมก็อยากจะทำตรงนี้ เพื่อให้เรามีความใกล้ชิดกันมากขึ้น อย่างปีที่แล้ว ชุมนุมบัญชีที่ได้จัดงาน sport day ร่วมมือกับ Audit Firm big4 ก็ทำให้เกิดความร่วมมือกันกับพี่ๆ บัญชีศิษย์เก่ามากขึ้น”

ดูเหมือนว่าจะบรรลุเป้าหมายในชีวิตหมดแล้ว หลังจากนี้คิดว่าจะทำอะไร
“ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 40ปี ที่แล้ว ก็ไม่ได้คิดว่าชีวิตจะเดินมาถึงจุดนี้ ก็เป็นจุดสูงสุด และได้รับการยอมรับทางสังคม ดังนั้นบั้นปลายชีวิตก็จะทำส่วนที่เหลือให้ดีที่สุด เวลาเดินลงก็จะลงด้วยความเรียบร้อยทั้งด้านหน้าที่การงาน และหน้าที่ทางสังคม แม้ว่าจะเกษียณแล้ว ถ้ามีโอกาสเข้าไปช่วยงานทางสังคมได้ก็จะช่วย เพราะมันเป็นหน้าที่ของคนไทยที่ต้องช่วยเหลือ ไม่ว่ารูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง คือก็จะทำประโยชน์ให้คณะฯ ถ้าทางจุฬาฯ ทางคณะฯ อยากให้ช่วยอะไรก็จะช่วยอย่างต่อเนื่อง”

มีอะไรจะฝากถึงน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่บ้าง
“ก็คือน้องๆ ทั้งปี1-4 อยากให้ใช้ชีวิตแบบลูกบอล 4 ลูกให้ดี บอลที่ 1 คือ เรื่องเรียน บอลลูกที่ 2 คือ เพื่อนฝูง อย่างกิจกรรมที่คณะฯ ที่เราทำในกรุ๊ป ในสโมฯ เพราะอย่าลืมว่าเราจบไปต้องอาศัยเพื่อนฝูง ลูกบอลที่ 3 ก็คือครอบครัว เราต้องดูแลพ่อแม่ ดูแลพี่น้อง จบไปแต่งงานก็มีคู่สมรส ก็ต้องดูแลคู่สมรส ดูแลบุตร และบอลลูกสุดท้ายก็คือ สังคม ผมไม่อยากให้น้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องทำทั้ง4ด้านไปพร้อมๆ กัน”

“ชีวิตในจุฬาฯ สอนให้เราไม่ท้อแท้ อย่างระบบ SOTUS ที่พี่ๆ บังคับเรา รำคาญบ้าง น่าเบื่อบ้าง ดูว่าไร้สาระบ้าง แต่ถ้าเรามองในด้าน positive thinking มองในแง่บวก สิ่งที่เค้าสอนมา ทำให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น มีการทำงานร่วมกัน ลำบากร่วมกัน เชียร์เหนื่อยด้วยกัน วิ่งสนามพร้อมกัน ตากแดดพร้อมกัน เราก็จะไม่ทิ้งเพื่อนฝูง แล้วก็ไม่เกี่ยงงาน จึงอยากบอกน้องๆ ว่า พยายามเรียนรู้ และมอง positive thinking ในการทำงานและอย่าท้อแท้”

01113