โดย คุณวิไลพร ทวีลาภพันทอง[1] รองศาสตราจารย์ศรัณย์ ชูเกียรติ[2]

SMAC เป็นคำย่อของกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผู้เชี่ยวชาญในสายงานด้านธุรกิจที่ปรึกษาของบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด คาดการณ์ว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมและธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมนับตั้งแต่วันนี้และต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบไปด้วย (1) สื่อสังคม (Social Media) (2) อุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobility) (3) การวิเคราะห์ (Analytics) และ (4) การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. สื่อสังคม (Social Media) เป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นผลพวงมาจากการวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตที่ก้าวเข้าสู่ยุค Web 2.0 โดยสื่อสังคมอาจเป็นโปรแกรมหรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งได้มีการจำแนกประเภทออกไปอีก 4 ประเภท คือ

ก. เครือข่ายสังคม (Social Network) เป็นสื่อสังคมที่ใช้ในการสร้างข้อมูลส่วนบุคคล ที่เด่นมากในกลุ่มนี้ ได้แก่ Facebook Google+ Instagram Twitter LinkedIn และ Line

ข. การทำงานร่วมกันทางสังคม (Social Collaboration) เป็นสื่อสังคมที่ทำให้เกิดการช่วยเหลือหรือร่วมมือกัน ที่เด่นมากในกลุ่มนี้ คือ Wikipedia

ค. การเผยแพร่ทางสังคม (Social Publishing) เป็นสื่อสังคมที่ใช้จัดเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง ที่เด่นมากในกลุ่มนี้ ได้แก่ YouTube และ Flickr

ง. ข้อแนะนำทางสังคม (Social Feedback) เป็นสื่อสังคมที่เปิดให้มีการแลกเปลี่ยนหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เด่นมากในกลุ่มนี้ ได้แก่ YouTube Flickr และ Amazon

ตัวอย่างของธุรกิจที่มีการนำสื่อสังคมมาใช้ได้อย่างน่าสนใจและก่อเกิดประโยชน์ในเชิงกลยุทธ์ที่ควรศึกษาและติดตาม เพื่อเป็นแนวทางในการนำสื่อสังคมมาประยุกต์กับองค์กร ได้แก่

  • กรณีของนักร้องชาวเกาหลี ปาร์ค แจ ซอง หรือ ไซ (Psy) เจ้าของเพลงกังนัมสไตล์ (Gangnam Style) พร้อมท่าเต้นควบม้าที่เป็นเอกลักษณ์และโด่งดังไปทั่วโลก ได้กลายเป็นนักร้องชาวเอเชียคนแรกที่สร้างยอดผู้ชมได้ถึง 1,000 ล้านวิว ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรายได้ค่าโฆษณาจาก YouTube สูงถึง 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 237 ล้านบาท[3] กรณีนี้คงทำให้หายสงสัยแล้วว่าทำไมบรรดาเจ้าของค่ายเพลงรายใหญ่ในประเทศไทยต้องกลับหลังหันเปลี่ยนนโยบายจากเดิมที่จะต่อการเผยแพร่มิวสิควิดีโอในยูทูป นอกจากนี้กระแสที่บรรดาองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในประเทศไทยหันมาสร้างแบรนด์ผ่านการแจกสติกเกอร์ Line เพิ่มมากขึ้น ก็นับเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงอิทธิพลของสื่อสังคมในการสร้างความนิยมในตัวสินค้าและบริการที่ชัดเจน
  • กรณีของสตาร์บัคส์ (Starbucks) ร้านกาแฟชื่อดังที่ใช้ Facebook ทดแทนการวิจัยการตลาดในรูปแบบเดิม ๆ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อแนะนำจากลูกค้าทั่วโลก ทำให้ได้ความคิดใหม่ ๆ ในการปรับปรุงสินค้าและบริการมากถึง 75,000 รูปแบบ ภายในเวลาอันรวดเร็วและตรงตามความต้องการของลูกค้า กรณีนี้ก็ทำให้เห็นอิทธิพลของสื่อสังคมในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนมหาศาลที่กระจายไปทุกพื้นที่ในโลกได้อย่างรวดเร็ว
  • กรณีของบริษัทไนกี้ (Nike) ที่ผลิตรองเท้าในแบรนด์ไนกี้พลัส ที่เป็นมากกว่ารองเท้าวิ่งธรรมดา กล่าวคือ ไนกี้ได้ผนวกสื่อสังคมเข้ากับตัวรองเท้าไนกี้พลัส ทำให้ผู้ใช้ไนกี้พลัสสามารถออกกำลังกายไปพร้อมกับการใช้สื่อสังคมในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิ่งกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม ทำให้การออกกำลังกายกับการเข้าสังคมไปพร้อม ๆ กัน กรณีนี้จะเห็นถึงการนำสื่อสังคมมาสร้างต้นทุนในการเปลี่ยนใจ ทำให้ลูกค้าของไนกี้พลัสยากต่อการเปลี่ยนใจไปใช้รองเท้าวิ่งของแบรนด์อื่น และยังช่วยไนกี้ในการขายสินค้า ด้วยการเชิญชวนเพื่อนในกลุ่มที่ออกกำลังกายให้มาซื้อรองเท้าวิ่งไนกี้พลัส นับเป็นการประยุกต์สื่อสังคมเข้ากับผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อเพิ่มคุณค่าได้อย่างลงตัว
  • กรณีของสำนักงานสอบบัญชีชั้นนำของโลกทั้ง 4 แห่ง ที่มีพนักงานจำนวนมากและหลากหลายวัยตั้งแต่ยุค Baby Boomer มาจนถึง Gen X และ Gen Y ก็พบว่ามีการนำสื่อสังคม เช่น Facebook และ Line มาใช้เป็นเครื่องมือในสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานภายในองค์กร เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างพนักงานที่มีวัยและวิธีคิดที่แตกต่างกัน ทำให้สังคมภายในองค์กรเกิดความร่วมมือและเกื้อกูลกันได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีการนำสื่อสังคม เช่น Facebook, Youtube และ Google+ มาใช้ในการติดต่อสื่อสารกับนิสิตในคณะฯ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความดีผ่านโครงการดีกันนะ[4]

ด้วยพื้นที่ในการเขียนที่จำกัด ผู้เขียนจึงขอยกเนื้อหาในส่วนที่เหลือของกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจ (SMAC) อีก 3 ตัว คือ อุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobility) การวิเคราะห์ (Analytics) และการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ไปไว้ในตอนต่อไป

—————————————————————————————

[1] หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย หรือ PricewaterhouseCoopers

[2] อาจารย์ประจำของภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[3] สำนักข่าวเอพี ของประเทศเกาหลีใต้ รายงานข่าวของ ปาร์ค แจ ซอง หรือ ไซ (Psy) ที่กลายเป็นนักร้องชาวเอเชียคนแรกที่สร้างยอดผู้ชมได้ถึง 1,000 ล้านวิว และได้รับรายได้ค่าโฆษณาจากเว็บไซต์ยูทูบสูงถึง 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2556

[4] โครงการดีกันนะ เป็นโครงการประกวดคลิปความดีผ่าน http://www.facebook.com/deekanna เพื่อส่งเสริมให้นิสิตจุฬาฯ มีความภูมิใจในความดี และส่งต่อความดีผ่านทางสื่อสังคม โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมในการทำความดี และสร้างสังคมความดีในที่สุด

—————————————————————————————

เขียนโดย รศ. ศรัณย์ ชูเกียรติ