ปัญหาจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของรายการบัญชีเพียงบางส่วน

ในปัจจุบัน มาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยมีการกำหนดให้วัดมูลค่าของสินทรัพย์หลายรายการด้วยมูลค่ายุติธรรม เช่น เงินลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดที่จัดประเภทเป็นกลุ่มของสินทรัพย์ที่ถือไว้เพื่อค้าหรือเผื่อขาย เป็นต้น ขณะที่การวัดมูลค่าของหนี้สินยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของราคาทุน (เงินกู้ยืม) หรือราคาทุนตัดจำหน่าย (เช่น การบัญชีสำหรับหุ้นกู้) การรับรู้สินทรัพย์และหนี้สินที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวัดมูลค่าก่อให้เกิดการจับคู่กันไม่ได้ทางการบัญชีระหว่างสินทรัพย์และหนี้สิน ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนต่อฐานะการเงินของกิจการ

ตัวอย่างของรายการที่จับคู่กันไม่ได้ทางการบัญชี ได้แก่ การระดมทุนจากการกู้ยืมและนำเงินที่ได้ไปลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดที่ถือไว้เพื่อค้าหรือเผื่อขาย หรือธุรกิจประกันภัยที่รับเบี้ยประกันภัยและต้องแสดงหนี้สินในงบแสดงฐานะการเงิน แต่ใช้เงินที่ได้รับไปในการลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดที่ถือไว้เผื่อขาย เพื่อก่อให้เกิดผลตอบแทนและสามารถจ่ายชำระค่าสินไหมเมื่อมีการเรียกร้องเกิดขึ้น งานวิจัยเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าการวัดมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดด้วยมูลค่ายุติธรรม โดยไม่วัดมูลค่าของหนี้สินที่จับคู่ได้ได้ทางบัญชีบนพื้นฐานเดียวกันทำให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศสหรัฐอเมริกามีโอกาสที่จะไม่สามารถรักษาระดับของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้อย่างเพียงพอ (Barth et al., 1998)

นอกจากความผันผวนที่เกิดขึ้นกับฐานะการเงินแล้ว ผลการดำเนินงานของกิจการยังมีความผันผวนสูงขึ้นด้วย เงินลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดที่ถือไว้เพื่อค้าต้องวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน ขณะที่กิจการไม่ปรับมูลค่ายุติธรรมของหนี้สินจากการจัดหาเงินที่วัดด้วยราคาทุน หากกิจการจัดประเภทเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดเป็นประเภทถือไว้เผื่อขาย กิจการต้องวัดมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรม และแสดงกำไรหรือขาดทุนจากการปรับมูลค่ายุติธรรมเป็นรายการกำไรหรือขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น โดยก่อนหน้าปี พ.ศ. 2554 กิจการจะต้องรับรู้รายการกำไรหรือขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นเป็นรายการแยกต่างหากในส่วนของผู้ถือหุ้นโดยไม่ผ่านเข้ากำไรขาดทุน แต่เมื่อกิจการต้องแสดงงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จแล้ว กิจการจะต้องแสดงรายการกำไรหรือขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ โดยไม่มีกำไรหรือขาดทุนจากรายการหนี้สินมาหักกลบ ทำให้กำไรเบ็ดเสร็จของกิจการเกิดความผันผวนที่ผู้ใช้งบการเงินต้องเข้าใจลักษณะของรายการนี้อย่างถ่องแท้

คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้กำหนดทางเลือกในการวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน เพื่อให้กิจการสามารถแสดงสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินที่สามารถจับคู่กันได้บนพื้นฐานของการวัดมูลค่าที่เหมือนกัน เพื่อลดความผันผวน โดยแสดงรายการเสมือนเป็นการป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติ (Natural hedge) ได้ เช่น การกู้ยืมเงินและการลงทุนในหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดที่ถือไว้เพื่อค้าหรือเผื่อขาย แต่การรายงานทางการเงินตามทางเลือกข้างต้นคงยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาความผันผวนของฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมูลค่ายุติธรรมของหนี้สินและสินทรัพย์ของธุรกิจประกันภัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของรายการค้ารายการลงทุนที่แตกต่างกัน ที่ทำให้มูลค่ายุติธรรมของทั้งสองรายการไม่สามารถจับคู่กันได้อย่างสมบูรณ์

เอกสารอ้างอิง

Barth, Mary, Wayne Landsman, James Wahlen, 1995, “Fair Value Accounting: Effects on Banks’ Earnings Volatility, Regulatory Capital and Value of Contractual Cash Flows”, Journal of Banking and Finance, 577-605.

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค