ต่อจากภาคที่สอง ในภาคจบนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอธรรมะดีๆ หรือข้อคิดดีๆ ที่ท่าน ว.วชิรเมธีให้เราไว้ในงานปัจฉิมนิเทศนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 69 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2555 คือ

3. การปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และทำให้ดีที่สุด

ข้อคิดข้อนี้นับเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราก็ควรทำอย่างเต็มที่และทำให้ดีที่สุด เพราะสิ่งที่เราทำลงไปนั้นสะท้อนความเป็นเรา และเมื่อเราทำเต็มที่และดีที่สุดแล้ว เราก็ไม่ควรเสียใจในสิ่งที่เราได้ทำลงไป แม้หากเกิดความผิดพลาด เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับผลของการกระทำของเรานั้น นั่นหมายถึง ความรับผิดชอบนั่นเอง บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินเสมอว่า “คนเราเลือกที่จะรับชอบ ไม่รับผิด” นั่นอาจเป็นเพราะคนกลุ่มนั้นยังไม่พยายามเต็มที่และไม่ภูมิใจกับสิ่งที่ตนได้ทำลงไป หรืออาจกลัวจากผลของการกระทำหากผลของการกระทำนั้นต่างไปจากที่เราได้คาดหวังไว้

หากเราได้พยายามทำอย่างเต็มที่และภูมิใจกับสิ่งที่เราได้ทำไป หากเกิดความผิดพลาดขึ้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราได้ทำลงไปนั้นก็นับเป็นบทเรียนที่เราจะสามารถนำไปปรับปรุงให้การทำงานของเราดีขึ้นต่อไป เหมือนตัวอย่างที่ท่าน ว. วชิรเมธี ได้กล่าวถึงพระประธานในวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงรายที่ท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ได้ปั้นมาหลายรอบเพื่อให้พระประธานนั้นเป็นพระประธานที่สวยที่สุด ดังนั้นในวัดร่องขุ่น จึงมีทั้งพระประธานปัจจุบันและอดีตพระประธาน โดยอดีตพระประธานก็คือพระประธานซึ่งครั้งหนึ่งเคยประดิษฐานไว้ในวิหาร แต่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดจากการปั้น อาจารย์เฉลิมชัยฯ ก็ได้อัญเชิญลงมาจากวิหารและนำพระพุทธรูปที่ปั้นขึ้นใหม่ไปประดิษฐานไว้แทน ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบที่ท่านมีต่อพระประธานที่ท่านได้ปั้นแต่ไม่สมบูรณ์แบบตามที่ตั้งใจไว้

บัณฑิตของภาควิชาการบัญชีก็เช่นเดียวกัน เมื่อจบการศึกษาออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย เราควรเรียนรู้ที่จะทำงานอย่างเต็มที่ เต็มใจ เต็มความสามารถ และพร้อมที่จะรับผิดหากเกิดข้อผิดพลาด มีคำกล่าวว่า “ผู้ที่ไม่มีความผิดคือผู้ที่ไม่ทำอะไรเลย” ดังนั้นการที่การทำงานของเราผิดพลาดไปบ้าง ก็นับเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ความผิดพลาดเช่นว่าควรอยู่บนพื้นฐานของการทำงานอย่างตั้งใจและเต็มที่มิใช่ว่าทำงานแบบขอไปทีและรอให้มีผู้มาตรวจสอบหรือค้นพบข้อผิดพลาดในภายหลัง ดังนั้นหากเราได้ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ เมื่อเกิดความผิดพลาด เราต้องรู้จักที่ยอมรับผิดและเรียนรู้นำไปแก้ไขเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ดีขึ้นในการทำงานและการดำรงชีวิต

การเรียนรู้ของเราไม่ได้จบลงที่มหาวิทยาลัยเพียงเท่านี้ พวกเรากำลังจะก้าวสู่มหาวิทยาลัยชีวิต ที่มีสิ่งให้เราเรียนรู้อีกมากมาย ซึ่งอาจมีบางครั้งที่เราอาจกระทำผิดพลาดไป เราจึงควรเรียนรู้ที่จะยอมรับทั้งความชอบและความผิดที่เราได้ทำ คนที่ทำผิดและรู้สึกตัวพร้อมที่จะแก้ไขนับเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ ยกย่อง เมื่อมีความผิดพลาด ขอให้เราพร้อมที่จะรับคำแนะนำ คำตักเตือนจากคนรอบข้างด้วยความเต็มใจ ไม่มีอัตตา เปรียบเสมือน ”แก้วน้ำที่รอรับการเติมเต็มอยู่เสมอ” บุคคลที่มีบุคลิกและทัศนคติในการทำงานเช่นนี้ย่อมได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในหน้าที่การงานให้เจริญ ก้าวหน้า เพราะเป็นบุคคลที่เปิดรับความคิดเห็นจากภายนอกอย่างไม่มีการถือตัวถือตนรวมถึงเปิดรับข้อผิดพลาดของตนที่อาจมีขึ้นได้เสมอเพื่อนำไปพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้น

โดยสรุป ข้อคิด 3 ข้อนับตั้งแต่ภาคแรกถึงภาคจบที่เราได้จากท่าน ว.วชิรเมธี คือ 1) การประสานอุดมคติเข้ากับชีวิตจริง 2) การประพฤติตนเยี่ยงบุคคลรุ่งอรุณ และ 3) การปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และทำให้ดีที่สุด นับได้ว่าเป็นข้อคิดที่ร่วมสมัย ไม่ว่าบุคคลในยุคใด สมัยใด ก็สามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้เพื่อการอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ในการประพฤติตนในสังคม เราต้องประพฤติตนอย่างมีสติ มีวิจารณญาณ รู้เท่าทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ดังคำว่า สติมา ปัญญาเกิด มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา ซึ่งปัญญาเปรียบเสมือนอาวุธของเรา ดังนั้นเราควรจะต้องใช้อาวุธของเราอย่างชาญฉลาด และตั้งอยู่บนหลักศีลธรรม จริยธรรมเพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขภายใต้สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

—————————————————————————————

เขียนโดย ดร. ณัฐชานนท์ โกมุทพุฒิพงศ์

—————————————————————————————

อ้างอิง

http://www.royin.go.th/th/home/

http://th.wikipedia.org/