การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคำถามว่าทำไมคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีต้องออกข้อบังคับให้กิจการเปิดเผยข้อมูลจำนวนมาก อาจจะมากจนถึงระดับที่ก่อให้เกิด Information overload แล้วหรือไม่การเปิดเผยข้อมูลจำนวนมากนั้นเป็นภาระให้แก่ผู้จัดทำบัญชีและก่อให้เกิดต้นทุนแก่กิจการ มีใครจะอ่านข้อมูลเหล่านั้นแล้วใช้ข้อมูลนั้นจริงหรือ

หากข้อมูลที่กิจการรายงานในงบการเงินแล้วให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่แท้จริงออกมาได้อย่างเที่ยงตรง (Precise) แล้ว คงไม่มีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลส่วนเพิ่มแต่อย่างใด แต่การรับรู้รายการและการวัดมูลค่าตามหลักการบัญชีอาจไม่ได้สะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริง ตัวอย่างประเด็นการวิเคราะห์ตามหลักสูตรของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในเรื่องต่างๆ สะท้อนให้เห็นความลำเอียง (Bias) ในการรายงานข้อมูลบัญชี เช่น หนี้สินนอกงบแสดงฐานะการเงิน การวัดมูลค่าของสินทรัพย์ด้วยพื้นฐานอื่นที่ไม่ใช่มูลค่ายุติธรรม ข้อกำหนดให้รับรู้รายจ่ายบางรายการเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งที่รายจ่ายอาจเป็นไปตามนิยามของสินทรัพย์ เป็นต้น

สมมติว่านักลงทุนตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลบัญชีชุดหนึ่ง เช่น ผลกำไรสำหรับรอบระยะเวลา ดังที่นักลงทุนกลุ่มหนึ่งใช้อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน สมมติให้ X* คือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของนักลงทุน เช่น ผลประกอบการที่แท้จริงของกิจการ ซึ่งนักลงทุนไม่ทราบ แต่กิจการรายงานผลประกอบการตามหลักการบัญชี X ซึ่งสะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการโดยมีความผิดพลาดจากการรับรู้และวัดมูลค่าของรายการต่างๆ ซึ่งแสดงด้วยสัญลักษณ์ e

Xi,t = X*i,t + ei,t

ความแปรปรวนของค่าความผิดพลาดของการวัดผลกำไร s2e สูงสะท้อนให้เห็นถึงการวัดผลกำไรที่มีความเที่ยง (Precision) ต่ำ หากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนให้ประโยชน์คุ้มค่ากับต้นทุนในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว เช่น นักลงทุนที่ศึกษาข้อมูลส่วนเพิ่มและสามารถทำกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ ย่อมก่อให้เกิดแรงจูงใจสำหรับนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่ตระหนักถึงประโยชน์ของข้อมูลนั้นในการที่จะศึกษาข้อมูลส่วนเพิ่มที่กิจการเปิดเผยให้ จนถึงจุดที่ประโยชน์ส่วนเพิ่ม (Marginal benefit) ของการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลเท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal cost) ของการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูล การค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมดังกล่าวที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนจะทำให้ข้อมูลที่ได้รับการศึกษาและประมวลผลในการตัดสินใจลงทุนนั้นได้สะท้อนเข้าไปอยู่ในราคาของหลักทรัพย์ และทำให้ตลาดทุนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (ในมุมมองของข้อมูลที่สะท้อนอยู่ในราคา)

ประเด็นที่สำคัญคือการให้ข้อมูลกับผู้ที่มีความรู้ด้านธุรกิจเพียงพอที่จะใช้ข้อมูลและมีความตั้งใจในการศึกษาข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ (ดูนิยามของความเข้าใจได้ในแม่บทการบัญชี) การให้ข้อมูลคงก่อให้เกิดต้นทุนแก่กิจการ แต่การไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวจะก่อให้เกิดต้นทุนในการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับนักวิเคราะห์และนักลงทุนรายตัว ซึ่งโดยรวมแล้วคงก่อให้เกิดต้นทุนรวมต่อระบบเศรษฐกิจที่สูงกว่า แถมยังอาจก่อให้เกิดข้อมูลภายในที่มีมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดกรณีของการใช้ข้อมูลภายในกิจการในการซื้อขายหลักทรัพย์ ที่จะก่อให้เกิดความไม่มั่นใจแก่นักลงทุนโดยทั่วไป

ข้อมูลที่เปิดเผยจะมีประโยชน์และได้รับการใช้งานในการตัดสินใจ หากข้อมูลนั้นมีคุณภาพจริง แทนที่จะบ่นว่าใครจะใช้ข้อมูล ผู้ทำบัญชีน่าจะมาไตร่ตรองให้มากขึ้นอีกนิดว่าการให้ข้อมูลใดจะมีประโยชน์แก่ผู้ใช้งบการเงินและจะส่งผลให้เกิดการใช้ข้อมูลอย่างกว้างขวางมากขึ้นอย่างที่ตั้งคำถามไว้ในย่อหน้าแรก เช่น บางกิจการให้ข้อมูลจำแนกตามส่วนงาน แต่มีการเปลี่ยนนิยามของส่วนงานอย่างสม่ำเสมอจนผู้ใช้งบการเงินไม่สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของแต่ละส่วนงานในระยะยาวได้ เป็นต้น

ปล่อยให้ผู้ใช้งบการเงินและกลไกตลาดทำงานและตัดสินว่าจะใช้ข้อมูลอย่างไรเถิดครับ อย่าเพียงแต่อ้างว่าการเปิดเผยข้อมูลก่อให้เกิดต้นทุนขึ้น โดยไม่มีใครใช้ข้อมูลเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูล

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค