แนวทางการปรับปรุงร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการบัญชีป้องกันความเสี่ยง

มาใหม่อีกแล้วครับ ร่างมาตรฐานการบัญชีเรื่อง การบัญชีป้องกันความเสี่ยง ที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศกำลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเมื่อเดือนธันวาคม 2010 ประเด็นสำคัญบางประการได้แก่

(1) กำหนดวัตถุประสงค์ของการบัญชีป้องกันความเสี่ยงเพื่อให้สะท้อนผลกระทบของการใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากส่วนเปิดความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อกำไรขาดทุน ไม่ใช่เพียงแค่การหักกลบกำไรขาดทุน ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ความสำคัญของการหักกลบผลกำไรขาดทุนลดลงในการประเมินประสิทธิผลที่คณะกรรมการเคยกำหนดไว้ว่าการป้องกันความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลต้องมีผลหักกลบกำไรขาดทุนได้ระหว่าง 80-125% การประเมินประสิทธิผลพิจารณาเพียงว่าการป้องกันความเสี่ยงนั้นให้ผลที่ไม่บิดเบือน ก่อให้เกิดความไม่มีประสิทธิผลที่คาดหวังไว้น้อยที่สุด และคาดว่าจะก่อให้เกิดการหักกลบผลกำไรขาดทุนได้ในระดับที่สูงกว่าความบังเอิญ

(2) วิธีการบัญชีสำหรับการป้องกันความเสี่ยงในมูลค่ายุติธรรม (Fair value hedge) กำหนดให้กิจการยังคงต้องวัดมูลค่าของรายการที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงและรายการที่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงด้วยมูลค่ายุติธรรม และรับรู้กำไรขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงที่มีประสิทธิผลเป็นรายการกำไรเบ็ดเสร็จอื่น (เดิมให้รับรู้เป็นกำไรหรือขาดทุน) เพื่อให้กำไรขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงทั้งในมูลค่ายุติธรรมและในกระแสเงินสดได้สะท้อนอยู่เป็นรายการกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นเหมือนกัน

(3) กำหนดให้ตราสารอนุพันธ์เป็นรายการที่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงได้ ดังนั้นกิจการอาจใช้ตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยงจากส่วนเปิดความเสี่ยงสุทธิที่เกิดจากรายการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับตราสารอนุพันธ์อีกสัญญาหนึ่งได้

(4) เมื่อการป้องกันความเสี่ยงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประเมินประสิทธิผลของการป้องกันความเสี่ยง แต่วัตถุประสงค์ของการป้องกันความเสี่ยงยังคงเดิม กิจการสามารถปรับระดับของการป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสมด้วยการทำ portfolio rebalancing ได้

(5) ตามปกติแล้ว มูลค่าตามเวลาของสัญญาสิทธิเลือก (Option) จะเปลี่ยนแปลงแบบไม่เป็นเส้นตรง ทำให้กำไรหรือขาดทุนมีความผันผวน ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนดให้รับรู้การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตามเวลาของสัญญาสิทธิเลือก (Option) ที่ใช้ในการป้องกันความเสี่ยงเป็นค่าใช้จ่ายแบบเส้นตรง ส่วนต่างระหว่างมูลค่าการเปลี่ยนแปลงจริงและมูลค่าที่รับรู้ตามวิธีเส้นตรงให้รับรู้เป็นรายการกำไรเบ็ดเสร็จอื่น

ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวยังมีรายละเอียดอีกมาก ไว้คอยติดตามกันต่อไปครับ ยังไงช่วงนี้ก็ลองหาหนังสือ “ตราสารอนุพันธ์: การวัดมูลค่า การรับรู้ และการบัญชีป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ” มาอ่านทำความเข้าใจหลักการวัดมูลค่าและการรับรู้รายการเบื้องต้นไปก่อนนะครับ ส่วนรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ อัพเดทกันไปครับ

เอกสารอ้างอิง

International Accounting Standards Board, Hedge Accounting, Exposure Draft, ED/2010213, December 2010

—————————————————————————————

เขียนโดย ผศ.ดร. วิศรุต ศรีบุญนาค