009          พี่ชื่อ วรสิทธิ์ ศิวเวชช สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับสอง รุ่น Shi65 เคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่บริษัท PriceWaterhouseCoopers ประเทศไทย และ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทสาขา Master of Management (Finance) จาก The University of Melbourne โดยได้รับคัดเลือกเป็นนักศึกษาดีเด่นประจำรุ่นเพื่อรับรางวัล The Director’s Award จากคณบดี และได้รับรางวัล Global Communication Leadership Award จากคณะครับ

ปัจจุบันพี่ทำงานตำแหน่ง Graduate Finance Officer แห่งกระทรวง Employment, Economic Development, and Innovation ของรัฐบาลแห่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ครับ กระทรวงนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนารัฐควีนส์แลนด์ให้มีภาวะที่เอื้อต่อการลงทุนทำธุรกิจ การประกอบอาชีพ และการวิจัยสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อการพัฒนาทางสังคมที่ยั่งยืน โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของพี่มีสามส่วนหลักๆคือ การดูแลและจัดทำบัญชีการเงิน การช่วยทีมงานจัดทำงบประมาณแผ่นดินของรัฐ สุดท้ายคือการค้นคว้าและปรับปรุงนโยบายบัญชีของกระทรวงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีในออสเตรเลียและระดับนานาชาติ

 

 

ช่วงเวลาที่พี่อยู่ที่คณะ พี่ได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง และมีเทคนิคการเรียนอย่างไรครับ
หลักๆ ที่พี่ทำคือการก่อตั้งและเป็นประธานฝ่ายถ่ายภาพให้สโมสรนิสิตของคณะครับ เพราะพี่เป็นคนชอบถ่ายภาพและอยากใช้ทักษะนี้สร้างประโยชน์ให้แก่คณะ จึงก่อตั้งฝ่ายขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการทำงานของสโมสรนิสิต งานรับผิดชอบหลักๆของฝ่ายคือ การเก็บภาพบรรยากาศกิจกรรมตลอดทั้งปีของคณะ โดยเฉพาะงานบาสเกตบอลประเพณี เพื่อเป็นวัตถุดิบให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของคณะ

เทคนิคการเรียนของพี่ พี่จะพยายามวิเคราะห์โดยหลัก Top-down analysis และ ใช้กฎ 20:80 ครับ คือแบ่งกลุ่มวิชาที่เรียนใน1เทอมให้เป็น ยาก-กลาง-ง่าย แล้ววิเคราะห์ว่าวิชาที่ยากนี้มีอะไรบ้างที่ยากแต่สำคัญ ส่วนสิ่งที่ยากแต่เป็นความรู้เสริมอาจไม่ต้องเน้นมาก แล้วจะทำความเข้าใจหรือรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไรบ้าง เช่น วิชาบัญชีจะมีมาตรฐานการบัญชีที่เป็นนามธรรม ถ้าอ่านแต่ทฤษฏีและหลักการอาจไม่ค่อยรู้เรื่อง พี่ก็จะเน้นทำโจทย์เพื่อเรียนรู้จากตัวอย่าง ทำความเข้าใจจากเฉลยของแบบฝึกหัด ถ้ายังงงก็ไปถามอาจารย์เพิ่มเติมครับ เพราะคนเรามีเวลาจำกัด ดังนั้นต้องโฟกัสว่าอะไรคือ Key Issues และอะไรคือ Key Success Factors ทำให้เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในแต่ละวิชา ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการเรียนหรืออ่านหนังสืออย่างไม่มีกลยุทธ์

การเรียนที่คณะ มีส่วนช่วยในชีวิตประจำวันของพี่ทุกวันนี้อย่างไรบ้างครับ
สิ่งที่ช่วยพี่ได้มากคือ คณะบัญชีทำให้พี่เป็นเด็กกิจกรรม ซึ่งฝึกให้พี่สามารถแบ่งเวลาได้ระหว่างการเรียนและทำกิจกรรม การได้ทำกิจกรรมที่คณะทำให้พี่รู้จักคนมาก ได้รับโอกาสแสดงความสามารถและใช้ทักษะถ่ายภาพทำประโยชน์ให้กับคณะและจุฬาฯ ได้เรียนรู้การบริหารคนในหลากหลายระดับ และได้นำความรู้ทางทฤษฏีที่เรียนมาประยุกต์กับแต่ละกิจกรรมที่ทำ เช่น การใช้วิชาบัญชีต้นทุนเพื่อคำนวณงบประมาณและต้นทุนของแต่ละโครงการ ซึ่งทักษะเหล่านี้ติดตัวพี่ไปถึงตอนเรียนปริญญาโทและตอนทำงาน เพราะการบริหารเวลา การทำงานร่วมกันเป็นทีมกับคนหลายระดับ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากต่อการเติบโตในหน้าที่การงานครับ

อะไรคือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและการทำงานของพี่ครับ

010          คณะบัญชีและจุฬาฯปลูกฝังให้พี่มีจิตสาธารณะ และกตัญญูต่อคนที่ให้โอกาส ดังที่มีคำกล่าวว่า “เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” แรงบันดาลใจของพี่คือ การได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่คนหมู่มากในสังคม ขณะเดียวกันก็สามารถดูแลตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ครับ งานที่พี่ทำอยู่ ณ ตอนนี้ พี่ค่อนข้างพอใจกับมันนะ เพราะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาสร้างประโยชน์ต่อประชาชนในรัฐควีนส์แลนด์ ทำให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจและการจ้างงานเพิ่ม ส่งผลให้คนมีงานทำสามารถเลี้ยงดูครอบครัวตนเองได้ ตัวพี่เองก็ชอบลักษณะการทำงานของประเทศนี้ที่เน้น Work/Life Balance ทำให้พี่มีเวลาหลังเลิกงานไปเล่นกีฬา ไปอ่านหนังสือ เข้าสังคม ถ่ายรูป พัฒนาตนเอง

 

 

 

ในการไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ พี่มีวิธีการเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ
พี่วิเคราะห์จากTop-down analysis ทำ list มหาวิทยาลัยชั้นนำในออสเตรเลียมา แล้วดูคอร์สเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจและไฟแนนซ์ จากนั้นจึงไปเจาะรายละเอียดดูถึงCourse Syllabus ว่า คอร์ส เรียนนี้มีวิชาอะไรบ้าง อาจารย์มีความสามารถแค่ไหน เนื้อหาครอบคลุมแค่ไหน และ หลักสูตรตอบโจทย์งานที่เราอยากทำหลังเรียนจบได้หรือไม่ แล้วเลือกมา 3 อันดับที่ดีที่สุดหลังการวิเคราะห์ จากนั้นก็เลือกสภาพแวดล้อมของเมือง ค่าครองชีพ อัตราอาชญากรรม และวิถีชีวิตของชาวเมืองครับ พี่มองว่าการไปเรียนต่างประเทศนั้นไม่ใช่แค่การไปเรียนเอาความรู้ในห้อง แต่คือการไปใช้ชีวิตในต่างแดนเพื่อรู้จักตนเองให้มากขึ้นและได้ค้นคว้าเรียนรู้สิ่งที่เราอยากรู้เพิ่มเติมจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่เราเลือกจากนี้ไปจะเป็นเบ้าหลอมชีวิตเราใหม่ไปอีกอย่างน้อย 1-2ปี

หลักสูตรที่พี่สมัครเรียนนั้นต้องการเอกสารหลักฐานคือ Transcript, IELTS, GMAT, Recommendation letter, Statement of Purpose ครับ ซึ่งพี่อาศัยการเรียนเพิ่มเติมในส่วนActive skills คือ Writing, Speaking และฝึกทำโจทย์เอาเองในทักษะส่วนอื่น สำหรับการเขียนStatement of Purpose นั้น พี่จะให้เวลาตนเองตกผลึกทางความคิด โดยไม่ต้องเร่งหรือฝืนตนเอง และปรึกษารุ่นพี่ที่เคยไปเรียนต่างประเทศ ปรึกษาอาจารย์ ปรึกษาครอบครัว เพื่อขัดเกลาสำนวนภาษาและความคิดครับ สิ่งสำคัญคือควรเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ อย่าเร่งอย่าฝืนตนเอง ไม่เช่นนั้นเราอาจได้ข้อเขียนที่สวยหรู แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ใจเราศรัทธาจริงๆ สุดท้ายคือการประเมินค่าใช้จ่ายทั้งค่าเทอมและค่าครองชีพครับ พี่หาข้อมูลจากรุ่นพี่ที่เรียนและทำงานที่เมลเบิร์นประกอบกับข้อมูลจากกระทรวงสถิติแห่งออสเตรเลียและเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย เพื่อทำงบประมาณล่วงหน้า 1 ปีในระหว่างที่เรียนอยู่ เพื่อนำเสนอต่อที่บ้าน และพี่ตั้งใจจะผ่อนชำระคืนที่บ้านหลังจากทำงานที่นี่ซัก 3 ปีครับ

พี่ได้วางแผนอนาคตไว้อย่างไร และทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมายนั้นครับ
ในระยะสั้น พี่อยากใช้ความรู้ที่มีทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดในการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนรัฐควีนส์แลนด์และออสเตรเลีย อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการสร้างและพัฒนาเมืองบริสเบน เพื่อตอบแทนโอกาสที่ทางกระทรวงเชื่อมั่นรับพี่เข้าทำงาน ตอบแทนโอกาสที่ประเทศนี้มอบให้พี่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดูแลตนเองได้ ในระยะยาว พี่อยากนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศไทยตามแต่สถานการณ์และบทบาทจะอำนวย หากกลับมาทำงานบริษัทแล้วพี่อยากลองสมัครงานในองค์กร United Nations หรือหากเป็นเจ้าของกิจการตนเอง พี่ก็อยากสร้างบริษัทที่เป็น Sustainable Consulting Business ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมครับ
011สิ่งสำคัญของการไปให้ถึงเป้าหมายคือ การรู้จักแผนที่ในภาพกว้างเพื่อเดินให้ถูกทิศทาง และที่สำคัญถัดจากนั้นคือการลงมือเดิน ส่วนวิธีการให้ไปถึงเป้าหมายนั้น พี่ชอบแนวคิดของคุณโชค บูลกุล แห่งฟาร์มโชคชัยครับที่กล่าวว่า “Win small, but win often.” นั่นคือเมื่อเรารู้เป้าหมายแล้วว่าคืออะไรและอยู่ตรงไหนการจะไปถึงเป้าหมายนั้นไม่จำเป็นต้องเร่งรีบและกดดันตนเอง จงรู้จักตนเองว่าสามารถก้าวได้เร็วแค่ไหน หมั่นพัฒนาตนเอง และทุกๆก้าวของความสำเร็จไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน แต่ก็ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายขึ้นอีกนิด และจะไปถึงเป้าได้ในที่สุด

คติประจำใจของพี่คืออะไรครับ
เต็มที่กับชีวิต และ นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ครับ

 

อยากให้พี่ฝากอะไรถึงน้องๆที่อยากจะเข้าคณะบัญชี และน้องที่กำลังศึกษาอยู่ รวมถึงน้องๆรุ่นหลัง
สำหรับน้องๆที่อยากเข้าคณะบัญชี : อยากให้มางาน Open House ของคณะ เพื่อซึมซับบรรยากาศของคณะและหลักสูตรต่างๆของแต่ละภาควิชาครับ สิ่งสำคัญสำหรับน้องๆคือการรู้จักตนเองและมองข้ามชอตไปเลยว่าถ้าจะเรียนคณะนี้ ภาควิชานี้แล้ว จบการศึกษาไปอยากประกอบอาชีพอะไร ลองหาทางเข้าหาผู้ใหญ่ที่เขาทำอาชีพนั้นอยู่แล้วจริงๆ ขอคำแนะนำจากท่านๆครับว่าพวกท่านมี lifestyle แบบไหน อะไรคือสิ่งที่เป็นความสุข เป็นความท้าทาย ของอาชีพนั้นๆ และกลับมาถามตนเองดูว่า เราชอบที่จะเป็นแบบนั้นในอีก 5-10ปีข้างหน้า ไหม การเก็บข้อมูลก่อนจะสมัครเรียนสำคัญมาก เพราะนี่คือการลงทุนทางเวลา 4 ปี ที่อาจส่งผลต่ออนาคตอีกเกือบ 40 ปีที่เหลือของเราครับ

สำหรับน้องๆที่กำลังเรียนอยู่: อยากให้ทำกิจกรรมครับ ไม่จำเป็นต้องไปออกค่าย ทำสโมสรนิสิต แต่อาจเป็นอะไรง่ายๆ เช่น เข้าชมรมภาษา การร่วมงานฟุตบอลประเพณี การที่เราได้มีโอกาสแบ่งเวลาทำกิจกรรมเป็นการเปิดโอกาสให้ชีวิตตนเองมีอิสระในการเลือกว่า ในเวลาว่างที่มีจำกัดนี้ ชีวิตเราให้คุณค่ากับกิจกรรมประเภทใดมากที่สุด ทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้นว่าแท้จริงแล้วเรามีลักษณะนิสัยแบบนี้ เราชอบที่จะทำงานแบบนี้ มีทักษะจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร และมีอะไรที่อยากพัฒนาเพิ่มเติม การได้รู้จักตนเองและรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เรารักนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างมากต่อไปในการเลือกทางเดินชีวิตในหลายๆครั้งครับ

อยากฝากว่าพอเติบโตเป็นผู้ใหญ่พ้นไปจากรั้วมหาวิทยาลัยนั้น โลกความจริงของการทำงานมีอะไรที่ต้องรับผิดชอบมากกว่าตอนเป็นนิสิตเยอะครับ ขอให้เรารับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง ยึดมั่นในการตัดสินใจที่ดีงามมีจริยธรรม มีความรู้คู่คุณธรรม โลกหลักจากมหาวิทยาลัยมีข้อสอบมาก่อนการสอน และไม่มีอาจารย์มาชี้ว่าคำตอบไหนถูกหรือผิดแบบขาวกับดำ แต่เป็นเราที่ต้องมองหลายๆด้าน วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแต่ละมุม มองโลกให้กว้างและลึก เพราะการตัดสินใจของเราอาจไม่ส่งผลกระทบแค่เรา แต่รวมถึงทีม บริษัท ลูกค้า และสังคม